ก.แรงงาน แถลงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนและลูกจ้าง รพ.เดชา สปส.ย้ายผู้ประกันตนกว่า 4 หมื่นราย ใช้บริการรักษาพยาบาลชั่วคราววันที่ 12 -15 พ.ค.นี้ ที่ รพ.จุฬาฯ ไม่เสียค่าใช้จ่าย จากนั้นวันที่ 16 พ.ค.เป็นต้นไป ใช้บริการรักษาพยาบาลได้ที่ รพ.ตำรวจ รพ.เลิดสิน และ รพ.ราชวิถี ด้าน กสร.ช่วยลูกจ้างด้านค่าครองชีพสามารถยื่นคำร้องรับเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 60 วัน สูงสุดไม่เกิน 18,000 บาท พร้อมดำเนินคดีกับนายจ้างตามกฎหมาย ขณะที่ กกจ.ประสานนายจ้างจัดสรรตำแหน่งงานรองรับลูกจ้างและผู้ประสงค์หางานใหม่ให้ได้งานทำทุกคน
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขสั่งปิดโรงพยาบาลเดชาดำเนินการชั่วคราว ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกระทรวงแรงงานต้องเข้าไปดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น 2 ส่วน คือ พนักงานของโรงพยาบาลเดชาที่ยังไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งเป็นค่าจ้างค้างจ่ายที่แตกต่างกันตามอัตราเงินเดือน โดยกระทรวงแรงงาน มีแนวทางการดำเนินการให้ทุกคนได้รับค่าจ้างค้างจ่ายโดยเร็ว ทั้งนี้หากมีการเลิกจ้างจะได้รับการคุ้มครองตามสิทธิประโยชน์ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ส่วนพนักงานที่มีความประสงค์จะไปทำงานที่อื่นนั้น กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ได้ตรวจสอบและประสานงานกับนายจ้างที่ต้องการรับสมัครงานในตำแหน่งอื่นๆ นอกเหนือจากแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัช จะรวมถึงตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล เจ้าหน้าที่บัญชี ฝ่ายบุคคล ซึ่งพบว่าในพื้นที่เขตดินแดง พญาไท ราชเทวี และห้วยขวาง มีตำแหน่งดังกล่าวอยู่จำนวน 170 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่พร้อมที่จะรับพนักงานเข้าทำงานรองรับได้ทุกคน อย่างไรก็ตามกรณีของโรงพยาบาลเดชาในขณะนี้เป็นเพียงการสั่งปิดดำเนินการชั่วคราว นายจ้างยังไม่ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงาน ลูกจ้างทุกคนจึงต้องมารายงานตัวต่อนายจ้าง จนกว่าจะมีการประกาศเลิกจ้าง สำหรับผู้ประกันตนที่ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลเดชาจำนวน 40,027 ราย กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกคนได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิของตนเองอย่างครบถ้วน และไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ทั้งนี้ขอให้ลูกจ้างและผู้ประกันตนมั่นใจและสบายใจได้ว่าสิทธิประโยชน์ต่างๆ กระทรวงแรงงานจะเข้าไปดูแลดำเนินการให้ทุกคน
ด้าน นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า โรงพยาบาลเดชาบริหารงานโดยบริษัท ศรีอยุธ จำกัด มีลูกจ้าง 206 คน เดิมมีนายวีรนาถ วีระไวทยะ เป็นผู้บริหารต่อมาได้เสียชีวิตลง และมีนายชาญณรงค์ ประเสริฐศรี มาบริหารงานแทน ส่วนปัญหาเกิดจากการบริหารงานด้านการเงิน จึงได้มีการติดค้างค่าจ้างของลูกจ้าง โดยลูกจ้างได้มายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชุดแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา จากนั้นพนักงานได้ออกหนังสือนัดให้กรรมการผู้จัดการมาชี้แจงข้อเท็จจริงแก่เจ้าหน้าที่ถึง 2 ครั้งแต่ปรากฏว่าผู้บริหารไม่ได้เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงแก่เจ้าหน้าที่แต่อย่างใด จากนั้นได้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยแจ้งความร้องทุกข์ไว้กับ สน.ดินแดง ในข้อหาขัดคำสั่งไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่
ส่วนการติดค้างค่าจ้างในเบื้องต้นนั้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้กับ สน.พญาไท ในข้อหาไม่จ่ายค่าจ้างตรงตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนการดำเนินการต่อไป พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความห่วงใยและให้แก้ไขปัญหาในภาพรวมของกระทรวงแรงงานโดยเร็ว ส่วนการดำเนินการตามกฎหมายกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานและเร่งรัดเพื่อออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจะดำเนินคดีเพื่อไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาของศาลแรงงานต่อไป
สำหรับมาตรการในการเยียวยาลูกจ้างนั้นเบื้องต้นได้พยายามติดต่อกับผู้บริหารโรงพยาบาลเพื่อนำเงินบางส่วนเท่าที่ทางโรงพยาบาลหาได้มาจ่ายเยียวยาแก่ลูกจ้างก่อน ทั้งนี้ช่วงที่โรงพยาบาลหยุดทำการ 30 วันนั้น พนักงานของโรงพยาบาลเดชายังคงต้องมาทำงานตามปกติ เนื่องจากบริษัทฯ ยังไม่ได้เลิกจ้าง สถานะความเป็นลูกจ้างของพนักงานจึงยังมีอยู่ ในกรณีที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างแล้วแต่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องเพื่อรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 60 วัน หรือสูงสุดไม่เกิน 18,000 บาท
ด้าน นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า โรงพยาบาลเดชาเป็นโรงพยาบาลคู่สัญญาของ สปส. ตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ สปส.ที่สถานพยาบาลคู่สัญญานั้นจะต้องมีเตียงไม่น้อยกว่า 100 เตียง มีแพทย์ไม่น้อยกว่า 12 สาขา มีแพทย์ประจำไม่น้อยกว่า 4 สาขา เพื่อให้สามารถรองรับผู้ประกันตนได้อย่างมีศักยภาพ โดยพบว่าโรงพยาบาลเดชาประสบปัญหาในการบริหารจัดการมาตั้งแต่ปลายปี 2558 ที่ผ่านมา เนื่องจากการรักษาผู้ประกันตนบางโรคนั้นเกินความสามารถของโรงพยาบาลจึงต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายซึ่งโรงพยาบาลเดชาค้างจ่ายให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นเงินราว 23 ล้านบาท
ทั้งนี้ในเบื้องต้นสำนักงานประกันสังคมได้แจ้งให้ผู้ประกันตนที่เลือกโรงพยาบาลเดชาเป็นสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ จำนวน 40,027 ราย หากเจ็บป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในระหว่างวันที่ 12 – 15 พฤษภาคม 2559 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลของรัฐ 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลราชวิถี
นายโกวิท ฯ กล่าวต่อว่า ส่วนการที่จะบอกเลิกโรงพยาบาลเดชาเป็นสถานพยาบาลคู่สัญญากับ สปส.หรือไม่นั้น จะต้องนำเรื่องเสนอบอร์ดประกันสังคมอีกครั้ง แต่หากไม่มีการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้ดีขึ้นก็จำเป็นต้องบอกเลิกคู่สัญญาในที่สุด
ข่าวเด่น