ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สศช. เผย GDP Q1/59 โต 3.2%ขยายตัวสูงสุดในรอบ12ไตรมาส


 ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่1/59 ขยายตัวที่3.2% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส


เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 59 เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.8% ในไตรมาส 4/58 และเป็นการขยายตัวในอัตราสูงสุดในรอบ 12ไตรมาส เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกจะขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้า 0.9% (QoQ_SA) สูงขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา โดยด้านการใช้จ่ายการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐและการส่งออกบริการท่องเที่ยวขยายตัวสูงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐสำหรับช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย 

          
การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร็วขึ้น ในด้านการผลิต ขยายตัวในเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และก่อสร้างขยายตัวสูง การคมนาคมขนส่ง และการค้าส่งค้าปลีก ขยายตัวในเกณฑ์ดี แต่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมยังลดลง 

ไตรมาส 1/59 การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัว 2.3% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 2.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยที่รายจ่ายภาคบริการและการบริโภคสินค้าไม่คงทนขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) การใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ส่วนปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงเนื่องจากมีการเร่งซื้อไปแล้วในช่วงก่อนที่จะมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในวันที่
1 ม.ค.59 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 63.5 เทียบกับระดับ 63.6 ในไตรมาสก่อนหน้า
          
การลงทุนรวม ขยายตัว 4.7% เทียบกับการขยายตัว 9.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัว 12.4% จากที่ขยายตัว 41.2% ในไตรมาส 4/58 ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกนี้การลงทุนภาครัฐบาลขยายตัว 16.2% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายการลงทุนในส่วนท้องถิ่น ประกอบกับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 10.0% ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.1% ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว 1.9% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนในหมวดก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัว 7.0% และ 0.9% ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 49.4 เทียบกับระดับ 49.7 ในไตรมาสก่อนหน้า
          
การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 52,257 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลง 1.4% เทียบกับการลดลง 7.9% ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของราคาสินค้าส่งออกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 1.1% แต่ราคาสินค้าส่งออกลดลง 2.4% เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลง 5.1% ในขณะที่การส่งออกในรูปเงินบาทมีมูลค่า 1,862 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7% ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้น 0.9% ในไตรมาสก่อนหน้า 
          
สาขาอุตสาหกรรม ลดลง 0.3% เทียบกับการขยายตัว 0.8% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ยางและพลาสติก อาหารและเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เคมี เป็นต้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ เครื่องแต่งกาย ยานยนต์ สิ่งทอ และอุปกรณ์วิทยุและโทรทัศน์ เป็นต้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 67.3%
          
สาขาโรงแรมและภัตตาคาร เพิ่มขึ้น 15.8% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 5.0% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 9.0 ล้านคน เพิ่มขึ้น 15.5% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.7% ในไตรมาสก่อนหน้า รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 494.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.7% อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 69.9% เพิ่มขึ้นจาก 61.8%
          
สาขาการก่อสร้าง ขยายตัว 11.2% เทียบกับการขยายตัว 23.9% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการขยายตัวทั้งการก่อสร้างภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชน โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัว 14.9% ซึ่งเป็นผลจากการก่อสร้างของรัฐบาลที่ขยายตัว 15.3% และการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัว 13.9% ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัว 7.0% เป็นผลจากการขยายตัวของการก่อสร้างอาคารชุดที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม
          
สาขาเกษตรกรรม ลดลง 1.5% เทียบกับการลดลง 2.1% ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผลผลิตพืชเกษตรสำคัญลดลงจากผลกระทบของภัยแล้ง พืชผลสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน สำหรับราคาสินค้าเกษตรโดยรวมลดลง 5.2% เมื่อรวมกับการลดลงของปริมาณผลผลิตส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง 7.0%



 

LastUpdate 16/05/2559 11:15:41 โดย :

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:57 am