ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
พลังงานเร่งผลักดันมาตรการ Building Energy Code


 


กระทรวงพลังงาน วางเกณฑ์มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานบังคับใช้สำหรับอาคารสร้างใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภท ได้แก่ สถานพยาบาล สถานศึกษา สำนักงาน อาคารชุด อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรม อาคารสถานบริการ และ อาคารศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้า กำหนดใช้ในพื้นที่ตั้งแต่ 2,000       ตารางเมตรขึ้นไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสอดรับแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015)
 

นายดนัย เอกกมล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า ภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 -2579 (EEP 2015) ได้กำหนดเป้าหมายลดความเข้มของการใช้พลังงานลง 30% ภายในปี 2579   โดยวางกลยุทธ์การดำเนินงานที่สำคัญไว้ 3 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์ภาคบังคับ กลยุทธ์ภาคความร่วมมือ และกลยุทธ์สนับสนุน ทั้งนี้ การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร หรือ Building Energy Code  ถือเป็นหนึ่งมาตรการในกลยุทธ์ภาคบังคับที่กำหนดขึ้นภายใต้ พรบ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกกฎกระทรวง กำหนด ประเภท หรือขนาดอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ขึ้นมา เพื่อการบังคับใช้กับอาคารที่จะขออนุญาตก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงอาคารเพิ่มเติมที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป โดยใช้กับอาคาร 9 ประเภท ได้แก่ สถานพยาบาล สถานศึกษา สำนักงาน อาคารชุด อาคารชุมนุมคน            โรงมหรสพ โรงแรม อาคารสถานบริการ และอาคารศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้า  ซึ่งกำหนดให้มีการตรวจสอบการใช้พลังงานตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หากเป็นไปตามที่กำหนด จึงจะอนุญาตให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงได้ต่อไป
 
 
สำหรับมาตรฐานการออกแบบอาคารตามมาตรฐาน Building Energy Code ประกอบด้วยมาตรฐานสำคัญ 6 ส่วน ดังนี้ 1. ระบบกรอบอาคาร จะต้องมีค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของผนังด้านนอกอาคารและผนังหลังคา ต้องไม่เกินค่าที่กำหนด 2. ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง จะต้องมีระดับความส่องสว่างสำหรับงานแต่ละประเภทจะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และต้องใช้กำลังไฟฟ้าสูงสุดไม่เกินค่าที่กำหนด 3. ระบบปรับอากาศ   ในแต่ละประเภทและขนาดต่างๆ จะต้องมีค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะขั้นต่ำ ค่าประสิทธิภาพการให้ความเย็น และค่าพลังไฟฟ้าต่อตันความเย็นเป็นไปตามที่กำหนด 4. อุปกรณ์ผลิตความร้อน จะต้องมีค่าประสิทธิภาพขั้นต่ำตามเกณฑ์ที่กำหนด 5. การใช้พลังงานรวม กรณีที่การออกแบบไม่เป็นไปตามมาตรฐานตามข้อ 1 ข้อ 2 หรือ ข้อ 3 ให้พิจารณาตามเกณฑ์การใช้พลังงานโดยรวมของอาคารอ้างอิง โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณในการออกแบบอาคารแต่ละระบบที่กำหนด 6. การใช้พลังงานหมุนเวียน ในระบบต่างๆ ของอาคาร คือ การส่งเสริมใช้แสงธรรมชาติเพื่อการส่องสว่าง และการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์

 
รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการดำเนินการบังคับใช้มาตรฐาน Building Energy Code ภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานผลักดันให้อาคารที่ก่อสร้างใหม่มีการออกแบบอาคารให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน  โดยจะมีผลการประหยัดพลังงานรวมจนถึงปี 2579 อยู่ที่ 13,686 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือ 1,166 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ    โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงเตรียมความพร้อม แก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนดต่างๆ ตั้งแต่ปี 2559-2561 แต่จะมีการเริ่มนำร่องในบางประเภทอาคาร ช่วงเริ่มบังคับ ตั้งแต่ปี 2562-2567        ช่วงบังคับเข้มข้นทุกประเภทอาคาร ตั้งแต่ปี 2568-2573 และช่วงบังคับเข้มข้นเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2574-2579

อย่างไรก็ตาม มาตรฐานดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ผู้ใช้อาคาร ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบก่อสร้างอาคาร ที่มุ่งเน้นการลดภาวะโลกร้อนและลดใช้พลังงานเป็นหัวใจสำคัญ เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างศิลปะการออกแบบอาคารและศาสตร์ทางด้านการอนุรักษ์พลังงานอย่างลงตัว


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 พ.ค. 2559 เวลา : 12:31:15

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:41 am