นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยมีส่วนแบ่งการส่งออกสินค้าอาหารโลกในสัดส่วนร้อยละ 6.3 จากการวิเคราะห์การค้าอาหารทั่วโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด เป็นผลสืบเนื่องจากจำนวนประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้นและแนวโน้มยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศผู้นำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ครองสัดส่วน ร้อยละ 12.4) เยอรมนี (ครองสัดส่วน ร้อยละ 8.2) สหราชอาณาจักร (ครองสัดส่วน ร้อยละ 6.2) ฝรั่งเศส (ครองสัดส่วน ร้อยละ 5.4) และญี่ปุ่น (ครองสัดส่วน ร้อยละ 5.4)
“แม้ว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการส่งออก สินค้าอาหารทะเลกระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ข้าว กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป และไก่แปรรูป เป็นต้น แต่คู่แข่งของไทยส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยการแข่งขันระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกันค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากคุณภาพของวัตถุดิบ สภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศมีความใกล้เคียงกับไทยมาก รวมถึงตลาดส่งออกหลักก็เป็นตลาดเดียวกัน” นางอภิรดีกล่าว
ในภาพรวมประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทย คือ เวียดนาม จีน และอินเดีย เนื่องจากมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิต คือ วัตถุดิบ แรงงาน และอัตราภาษีจากประเทศคู่ค้าและประเทศตนเอง โดยเฉพาะจีน ซึ่งมีสินค้าอาหารส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ผลไม้แปรรูป ผักสด เนื้อปลาสดแช่แข็งและผลไม้สด
ทิศทางการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปี 2559 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป(อียู) ญี่ปุ่น ยังไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ และเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัว ทำให้คำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้ามีแนวโน้มลดลง ประกอบกับปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงผันผวน ราคาน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้สินค้าเกษตร สินค้าอาหารและอุปโภคบริโภคมีราคาลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงปัญหาภัยแล้งยังส่งผลให้วัตถุดิบการเกษตรสำหรับนำมาแปรรูปเป็นอาหารสำเร็จรูปอาจจะไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และภาคเอกชน อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อม เพื่อปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกดังกล่าว และมีการกำหนดนโยบายทั้งในด้านการขยายตลาดส่งออกเชิงรุกและการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มและมีแนวโน้มดีในตลาดโลก อาทิ สินค้าอาหารแปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน เกษตรอินทรีย์ และอาหารฮาลาล เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทย โดยเน้นให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า และมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้า ตลอดจนกระแสรักษาสุขภาพ ทั้งนี้ ความนิยมบริโภคอาหารเอเชียยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอิทธิพลของโซเซียลมีเดียต่างๆ ทำให้สินค้าอาหารไทยยังคงได้รับความนิยมอยู่ และยังมีโอกาสขยายตัวในกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ (อาทิ หนุ่มสาวที่ชอบท่องเที่ยว และแฟชั่น)
ในปี 2558 อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารไทยมีการส่งออกคิดเป็นมูลค่า 32,960 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.4 โดยการส่งออกสินค้าอาหาร (รวมข้าวและน้ำตาล) มีมูลค่า 24,396 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.26 สินค้ายางพารา มีมูลค่า 5,057 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 16 ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มีมูลค่า 3,508 ลดลงร้อยละ 1.6
คู่แข่งที่สำคัญของไทยจำแนกตามประเภทสินค้าอาหารส่งออกที่สำคัญ มีดังนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวสรุปว่า เร็วๆนี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดงาน THAIFEX-World of food ASIA 2016 โดยร่วมกับผู้จัดงานอาหารของเยอรมัน (Koeln Messe) และหอการค้าไทย ระหว่างวันที่ 25 – 29 พฤษภาคม 2559 ณ อิมแพค เมืองทองธานี
ข่าวเด่น