ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กทม.กุมขมับปัญหาเหตุไฟไหม้หญ้าในกทม. ยังพุ่งไม่หยุด


 


นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองปลัดกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ได้สรุปเหตุสาธารณภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 8-14 พ.ค. 59 พบว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้หญ้าและขยะสูงสุด จำนวน 281 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากระหว่างวันที่ 1 -7 พ.ค. 59 จำนวน 86 ครั้ง รองลงมาคือไฟฟ้าลัดวงจร จำนวน 15 ครั้ง เพิ่มขึ้นจำนวน 9 ครั้ง เพลิงไหม้อาคาร/สิ่งของภายในอาคาร จำนวน 9 ครั้ง ลดลงจำนวน 1 ครั้ง เพลิงไหม้ยานพาหนะ จำนวน 4 ครั้ง ลดลงจำนวน 1 ครั้ง

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงฤดูแล้ง สภาพอากาศแห้ง ความชื้นต่ำง่ายต่อการเกิดอัคคีภัย ซึ่งอาจสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้น จึงขอความร่วมมือประชาชนงดเผาหญ้า ขยะ หรือสิ่งอื่นๆ ในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า หรือในที่ดินของตนเอง เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญกับเจ้าของที่ดินข้างเคียงเนื่องจากกลุ่มควันและฝุ่นละอองจากขี้เถ้า และยังก่อให้เกิดเพลิงไหม้ลุกลามไปยังที่ดินข้างเคียงอีกด้วย 

ซึ่งการกระทำเหล่านี้มีกฎหมายอัตราโทษไว้ ตามระดับของความร้ายแรงแห่งการกระทำ ดังนี้ 

1. หากการเผาหญ้าหรือขยะหรือสิ่งอื่นใดในที่ดินของตนเองนั้น ยังไม่รุนแรงถึงขั้นที่อาจจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของบุคคลอื่น กล่าวคือ ยังไม่ถึงขั้นที่จะน่ากลัวว่าไฟนั้นจะลุกลามไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่น เป็นแต่เพียงก่อให้เกิด กลิ่น แสง สี เสียง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แก่ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง เช่นมีฝุ่นควันลอยและเศษขี้เถ้าไปเข้าไปเข้าบ้านใกล้เรือนเคียงเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านได้รับความเดือดร้อนรำคาญ เช่นนี้ ตามกฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งห้ามเป็นหนังสือให้ผู้เจ้าของที่ดินผู้เผาหยุดกระทำการดังกล่าวได้ และยังสามารถกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันเหตุรำคาญที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่นห้ามมิให้ทำการเผาอีกต่อไป และหากเจ้าของที่ดินผู้เผายังฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ก็จะมีความผิดอาญา โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับ ไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25, 26, 28, 74) 

2. หากการเผาหญ้าหรือขยะหรือสิ่งอื่นใดในที่ดินของตนเองนั้น มีความรุนแรงถึงขั้นที่ “น่าจะ” เป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น เช่น จุดไฟแล้วไม่ดูแล ปล่อยให้ไฟลุกลามจนเพื่อนบ้านต้องเรียกรถดับเพลิงมาดับไฟ เพราะไฟใกล้จะไหม้ถึงบ้านเพื่อนบ้าน เช่นนี้เจ้าของที่ดินผู้เผาจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 220 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท ทั้งนี้โดยที่ไม่ต้องเกิดเพลิงไหม้หรือความเสียหายขึ้นจริงๆเลย เพียงแต่น่าจะเกิดก็เป็นความผิดตามมาตรา 220 แล้ว และหากเกิดอันตรายขึ้นแก่ทรัพย์สินหรือบุคคลอื่นจริงๆ ผู้กระทำก็ต้องรับโทษหนักขึ้น ตามมาตรา 218 หรือมาตรา 224 แล้วแต่กรณีซึ่งมีระวางโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต 
ยกเว้นหากทรัพย์สินที่เกิดเพลิงไหม้หรืออาจจะเกิดเพลิงไหม้นั้นมีราคาเล็กน้อย ผู้กระทำก็จะได้รับโทษเบาลงตามมาตรา 223 

3.หากลักษณะการเผาหญ้าหรือขยะหรือสิ่งอื่นใดในที่ดินของตนเองนั้น ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลได้อยู่แล้วว่า ลักษณะการจุดไฟเผาของตนอาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้อย่างแน่นอน เช่น จุดไฟในลักษณะที่ใกล้เคียงกับบ้านหรือทรัพย์สินของคนอื่นอย่างมาก ในช่วงที่ลมแรง เช่นนี้ผู้กระทำผิดย่อมมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217-218 แล้วแต่กรณี ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงถึงประหารชีวิต

กทม. จึงความร่วมมือประชาชนงดเผาขยะในพื้นที่รกร้างว่างเปล่าหรือในที่ดินของตนเองซึ่งมีความผิดและบทลงโทษ ตามกฎหมาย ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นเหตุเพลิงไหม้หรือสาธารณภัย โปรดแจ้งสายด่วน โทร.199

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 พ.ค. 2559 เวลา : 07:09:13

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:15 am