สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เผยผลการประมาณการผลผลิตลำไย และ ลิ้นจี่ ครั้งที่ 3 ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ระบุ สภาพอากาศแล้งส่งผลกระทบลำไยที่ติดผลแล้วร่วง แจงบางพื้นที่ยืนต้นตาย ด้านคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือลุยติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เตรียมสรุปข้อมูลเอกภาพกรกฎาคมนี้
นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการประมาณการผลผลิตลำไย และ ลิ้นจี่ ปี 2559 ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และตาก ของคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 (สสข.6) จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานเกษตรจังหวัด 8 จังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด 8 จังหวัด และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้แทนเกษตรกรชาวสวนลำไยและลิ้นจี่ โดยข้อมูลไม้ผลแต่ละชนิด พบว่า
ลำไย มีเนื้อที่ให้ผลจำนวน 819,111 ไร่ ลดลงจากปี 2558 ประมาณร้อยละ 2 ผลผลิตต่อไร่ ประมาณ 579 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงประมาณร้อยละ 11 โดยแยกเป็นลำไยในฤดู 428 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 14 และลำไยนอกฤดูประมาณ 1,278 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงประมาณ ร้อยละ 5 เนื่องมาจากสภาพอากาศที่ร้อนและแล้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานทำให้ลำไยได้รับน้ำฝนในปริมาณที่ไม่เพียงพอ
ด้านผลผลิตรวม คาดว่าจะมีประมาณ 473,913 ตัน ลดลงจากปี 2558 ประมาณร้อยละ 13 โดยเป็นลำไยในฤดูประมาณ 288,013 ตัน ลดลงจากปี 2558 ประมาณร้อยละ 16 และลำไยนอกฤดูประมาณ 185,900 ตัน ลดลงจากปี 2558 ประมาณร้อยละ 7 ซึ่งขณะนี้ลำไยอยู่ในช่วงออกผลเท่ากับเมล็ดถั่วเหลืองประมาณร้อยละ 60 โดยผลผลิตจะออกมากในช่วงเดือนสิงหาคม ประมาณร้อยละ 53
ลิ้นจี่ มีเนื้อที่ให้ผล 102,604 ไร่ ลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 4 ให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 287 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 34 ผลผลิตรวมประมาณ 29,475 ตัน ลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 37 โดยผลผลิตลิ้นจี่จะออกมากในช่วงเดือนพฤษภาคมประมาณร้อยละ 63 และต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายนประมาณร้อยละ 29 ซึ่งขณะนี้ลิ้นจี่พันธุ์ ฮงฮวยอยู่ในช่วงเปลี่ยนสีกำลังจะเก็บเกี่ยวได้ และบางส่วนเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวแล้ว ส่วนพันธุ์จักรพรรดิอยู่ในช่วงเปลี่ยน สีกำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้คาดว่าจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต ประมาณต้นเดือนมิถุนายนนี้
อย่างไรก็ตาม คณะทำงานสำรวจไม้ผลฯ ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากปีนี้สภาพอากาศแล้งและขาดน้ำส่งผลกระทบให้ลำไยที่ติดผลแล้วร่วง และในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งโดยยืนต้นตาย (เสียหายสิ้นเชิง) เบื้องต้นจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณการพื้นที่ความเสียหายสิ้นเชิงของลำไย (คาดว่าจะโค่นทิ้งและโค่นทิ้งแล้ว) จำนวน 11,345 ไร่ จังหวัดลำพูน ประมาณการพื้นที่ความเสียหายสิ้นเชิงของลำไยจำนวน 602 ไร่ และจังหวัดเชียงราย ประมาณการพื้นที่ความเสียหายสิ้นเชิงของลำไยจำนวน 300 ไร่ ส่วนจังหวัดอื่นๆ ยังไม่มีการรายงานความเสียหาย
ทั้งนี้ คณะทำงานสำรวจไม้ผลฯ คาดว่าหากภายในเดือนพฤษภาคมนี้หากฝนไม่ตก ลำไยจะได้รับผลกระทบทางด้านผลผลิตและมีพื้นที่เสียหายเพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการไว้ ซึ่งคณะทำงานสำรวจไม้ผลฯ จะได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป และจะมีการประชุมพร้อมทั้งสรุปเป็นข้อมูลเอกภาพไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนืออีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ นายอนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น