ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ปภ. เตือน 7 จุดเสี่ยงอุบัติภัยในโรงเรียน


 


กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือน 7 จุดเสี่ยงที่มักเกิดอุบัติภัยในโรงเรียน พร้อมแนะผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ ร่วมกันตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงอันตราย โดยยึดติดเครื่องเล่นกับพื้นอย่างแน่นหนา ตรวจสอบประตูรั้ว หน้าต่าง ระเบียง ให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง หากชำรุดควรดำเนินการซ่อมแซมทันที รวมถึงควรจัดให้มีผู้ดูแลบริเวณลานจอดรถและถนนหน้าโรงเรียน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยแก่เด็กในสถานศึกษา
          
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า โรงเรียนถือเป็นบ้านหลังที่สองของเด็ก โดยช่วงเปิดภาคเรียน เด็กส่วนใหญ่มักใช้เวลาประกอบกิจกรรมในโรงเรียน แต่ด้วยความซุกซนของเด็ก รวมถึงสภาพแวดล้อมโรงเรียนที่ไม่ปลอดภัย จึงเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กได้รับอันตราย เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ขอเตือนจุดเสี่ยงอุบัติภัยในโรงเรียน ดังนี้ 
 
 
 

สนามเด็กเล่น ต้องเป็นพื้นเรียบ ปูด้วยวัสดุอ่อน เช่น ทราย ยางสังเคราะห์ เป็นต้น เพื่อรองรับแรงกระแทก จัดหาเครื่องเล่นที่มีความปลอดภัย เหมาะสมกับวัยและส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ยึดติดเครื่องเล่นที่เสี่ยงต่อการล้มกับพื้นอย่างแน่นหนา รวมถึงหมั่นตรวจสอบเครื่องเล่นให้อยู่ในสภาพปลอดภัย หากชำรุดให้แจ้งช่างดำเนินการแก้ไข 

สนามกีฬา จัดแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน แยกตามประเภทกีฬาพื้นสนามไม่เป็นหลุมบ่อ ไม่มีหญ้าขึ้นรก ไม่มีเศษวัสดุและของมีคม หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องเล่นให้อยู่ในสภาพปลอดภัย โดยเฉพาะเสาขึงตาข่ายวอลเล่ย์บอล เสาประตูฟุตบอล และโครงแป้นบาสเก็ตบอล เพื่อป้องกันการล้มทับเด็ก 

สระน้ำ/บ่อน้ำ จัดทำรั้วหรือตะแกรงกั้นล้อมรอบแหล่งน้ำ ติดตั้งป้ายเตือนอันตราย พร้อมจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำไว้บริเวณใกล้ๆ แหล่งน้ำ 

อาคารเรียน ตรวจสอบราวจับและราวกั้นบันไดให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ไม่ปูพื้นด้วยกระเบื้องที่มีลักษณะมันวาวทำความสะอาดพื้นมิให้มีน้ำหกหรือคราบสกปรก ไม่วางสิ่งของกีดขวางทางเดิน ไม่วางสิ่งของที่มีน้ำหนักมากซ้อนกันบนที่สูง พร้อมจัดทำลูกกรงเหล็กปิดกั้นระเบียง ประตู หน้าต่างของอาคารเรียนที่สูงมากกว่า 2 ชั้น เพื่อป้องกันเด็กพลัดตก 

ประตู/รั้วโรงเรียน หมั่นตรวจสอบให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ไม่ชำรุด หรือผุกร่อน ไม่อยู่ในสภาพเอียงหรือใกล้ล้ม หากเป็นประตูแบบล้อเลื่อน ควรจัดให้มีเสาครอบประตูอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันประตูล้มทับเด็ก 

ลานจอดรถ จัดให้มีลานจอดรถที่เป็นสัดส่วน แยกออกจากพื้นที่โดยรอบอาคารเรียน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่อยู่ประจำบริเวณลานจอดรถ รวมถึงดูแลมิให้เด็กใช้ลานจอดรถเป็นพื้นที่วิ่งเล่น เพื่อป้องกันการถูกเฉี่ยวชน

 ถนนหน้าโรงเรียน จัดการจราจรให้เป็นระเบียบ มีทางม้าลายสำหรับข้ามถนน จัดครูเวรดูแลนักเรียนในช่วงก่อนโรงเรียนเข้าและหลังโรงเรียนเลิก โดยเฉพาะโรงเรียนที่ตั้งอยู่บริเวณที่มีจราจรคับคั่ง ควรประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่นักเรียน 

ทั้งนี้ ช่วงเปิดภาคเรียนเป็นช่วงที่เด็กมีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากอุบัติภัยในโรงเรียน เพื่อความปลอดภัย ผู้บริหารควรสร้างสภาพแวดล้อมโรงเรียนให้มีความปลอดภัย พร้อมดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด รวมถึงสอนให้เด็กเรียนรู้ถึงจุดเสี่ยง วิธีปฏิบัติตนเพื่อป้องกันอันตราย จะช่วยให้เด็กใช้ชีวิตในสถานศึกษาได้อย่างปลอดภัย




 

LastUpdate 18/05/2559 12:05:36 โดย : Admin

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:14 am