กระทรวงสาธารณสุข แนะเคล็ดลับแก่ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง เตรียมเด็กให้มีความพร้อมทั้งกายและจิต รับเปิดเทอม ให้อยากไปโรงเรียน ป้องกันโรคมือเท้าปาก อาหารเป็นพิษ จัดอาหารถูกหลักโภชนาการ
วันนี้ (18 พฤษภาคม 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และนพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย ร่วมแถลงข่าว “สธ.แนะเคล็ดลับเตรียมลูกพร้อมรับเปิดเทอม” ว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยสุขภาพเด็กไทยทุกคน ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเปิดเทอมของโรงเรียนทั่วประเทศ เด็กต้องไปโรงเรียนหลังหยุดพักนานหลายเดือน ทำให้ทั้งผู้ปกครองและเด็กต้องปรับตัวในหลายด้าน
เพื่อกลับเข้าสู่สังคมการเรียนรู้ในโรงเรียนร่วมกัน มอบให้ 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข พัฒนา 4 ด้านหลัก (4H) คือ ด้านสติปัญญา (Head) ด้านทัศนคติ (Heart) ด้านเรียนรู้และปฏิบัติจริง (Hands) และด้านสุขภาพ (Health) ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญด้านสุขภาพ
โดยจัดหลักสูตรในช่วงเพิ่มเวลารู้ให้นักเรียนมีความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว รวมทั้ง ให้โรงเรียนทุกแห่งและศูนย์เด็กเล็กกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมสถานที่ และสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้สะอาดเพื่อป้องกันโรคที่พบบ่อย เช่น โรคมือเท้าปาก อาหารเป็นพิษ และให้ความรู้แก่ครูผู้สอน และผู้ปกครอง ในการคัดกรองและสังเกตอาการเบื้องต้น และปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียน ทั้งด้านอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน และการจัดการความเครียดในการเรียน เพื่อให้เด็กมีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมเรียนรู้ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคที่อาจเกิดกับเด็กในช่วงเปิดเทอม คือ โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) พบได้มากช่วงฤดูฝน โรคนี้ระบาดได้ง่ายในเด็กเล็ก ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ ข้อมูลสำนักระบาดวิทยารอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในปี 2557 สูงถึง 65,230 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กในศูนย์เด็กเล็ก ข้อมูลสำนักระบาดวิทยาปีนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม - 10 พฤษภาคม พบผู้ป่วยแล้ว 11,382 ราย เสียชีวิต 1 คน โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น หายได้เองใน 7-10 วัน มีเพียง 1 ใน 10,000 ราย ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ครู ผู้ปกครองต้องทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ของเด็ก ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ เน้นตรวจคัดกรองเด็กทุกคน ทุกเช้า หากพบเด็กป่วยให้แยกออกจากเด็กปกติและหยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วย ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่เด็กอื่น
นอกจากนี้ ยังมีโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน (Food Poisoning) ซึ่งเกิดได้ง่ายและเกิดการระบาดเป็นกลุ่มใหญ่ จากการกินอาหาร น้ำดื่ม ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค สารพิษหรือสารเคมี ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโรคในปีนี้ตั้งแต่ 1 มกราคม – 10 พฤษภาคม พบผู้ป่วย 43,461 ราย ดังนั้นในช่วงเปิดภาคเรียน โรงเรียนต้องเตรียมมาตรการป้องกันควบคุมโรคเพื่อลดความเจ็บป่วยต่อสุขภาพเด็ก คือ 1.จัดระบบโรงอาหารในโรงเรียน สะอาด เป็นระเบียบ ระบายอากาศ ถูกต้องตามมาตรฐานสุขาภิบาลโรงอาหารสำหรับโรงเรียน 2.ตรวจรับนมและเก็บรักษานมให้มีคุณภาพ ต้องเข้มงวดตั้งแต่กระบวนการขนส่ง ตรวจสอบคุณภาพของนม และการเก็บรักษานมอย่างถูกวิธี ทั้งแบบพาสเจอร์ไรส์และยูเอชที 3.อาหารบริจาค หากเป็นอาหารกระป๋องต้องแสดงข้อมูลและมีสภาพที่สมบูรณ์ หากเป็นอาหารปรุงสำเร็จรูป ต้องปรุงสุกใหม่ไม่เกิน 2 ชม. 4.กรณีนำนักเรียนเข้าค่ายหรือทัศนศึกษา ควรเลือกสั่งอาหารจากร้านที่สะอาดตามเกณฑ์มาตรฐาน Clean Food Good Taste 5.พืชพิษที่ใช้ประกอบการเรียน ควรติดป้ายเพื่อบอกถึงอันตรายหากสัมผัสและห้ามรับประทาน และ6.เมื่อพบเด็กป่วยหรือเกิดเหตุการณ์ระบาดในโรงเรียน ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข/ผู้ปกครองให้ทราบ และควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโรค โดยทำความสะอาดบริเวณที่อาจมีการปนเปื้อน อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พฤติกรรมการกินที่ถูกสุขลักษณะ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า เด็กวัยเรียนควรกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะมื้อเช้า เพราะจะทำให้เด็กความจำดี พัฒนาสมอง ควบคุมน้ำหนักได้ ลดความเสี่ยงเกิดโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคนิ่ว เป็นต้น เคล็ดลับในการเตรียมอาหารให้เหมาะสมกับเด็กคือ 1.จัดอาหารหลักให้เด็กบริโภค 3 มื้อ ไม่เว้นมื้อใดมื้อหนึ่ง และควรจัดอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายเด็ก โดยใน 1 วัน เด็กควรกินข้าว/แป้ง 8 ทัพพี ผัก 4 ทัพพี ผลไม้ 3 ส่วน เนื้อสัตว์ 6 ช้อนกินข้าว นม 2 แก้ว 2.กำหนดเมนูอาหารแต่ละวัน อาจให้เด็กเสนอรายการบ้าง ให้เกิดการมีส่วนร่วม 3.ฝึกเด็กในการกินอาหารให้ตรงเวลา ไม่กินจุบจิบ ไม่กินขนมก่อนอาหารมื้อหลัก 4.ฝึกให้เด็กรู้จักความพอดีในการรับประทานอาหารแต่ละประเภท ไม่ควรตามใจ 5.เตรียมอาหารว่างให้เด็กกินตอนสายและตอนบ่าย
นอกจากนี้ การนอนหลับพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยทำให้เด็กพร้อมเรียนในตอนเช้า ซึ่งเด็กแต่ละวัยจะใช้การเวลานอนต่างกัน โดยวัยเตาะแตะ (1-2 ปี) ควรนอน 11-14 ชม. วัยก่อนเข้าเรียน (3-5 ปี) ควรนอน 10-13 ชม. วัยเข้าโรงเรียน (6-13 ปี) ควรนอน 9-11 ชม. วัยรุ่น (14-17 ปี) ควรนอน 8-10 ชม. เป็นต้น ทั้งนี้ควรให้เด็กเข้านอนและตื่นเป็นเวลาทุกวัน ห้องนอนควรมืด เงียบ มีอุณหภูมิเย็นสบาย ก่อนเข้านอนควรเลี่ยงอาหารมื้อหนัก น้ำอัดลม ช็อคโกแลต และไม่เล่นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ปกครองต้องเผชิญกับเด็กคือ ลูกไม่อยากไปโรงเรียน มักพบในเด็กชั้นอนุบาล กลัวต้องแยกจากพ่อแม่ วิตกกังวลสูง จะมีอาการที่แสดงออก เช่น มีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ผู้ปกครองต้องเข้าใจว่าเด็กไม่ได้แกล้งทำ ดังนั้นจึงต้องจัดการดังนี้ 1.ต้องมั่นใจในการแก้ปัญหา อย่าลังเล จะช่วยให้ลูกเข้มแข็ง 2.เปลี่ยนประเด็นการคุย อย่าย้ำเตือนเรื่องไปโรงเรียน 3.เวลาส่งเด็กไปโรงเรียน อย่าใช้เวลาในการแยกจากนาน ควรรีบส่งเด็กให้กับครูแล้วรีบออกมา 4.หากไม่สามารถจัดการได้ควรพบจิตแพทย์เพื่อเข้าโปรแกรมการบำบัด
นอกจากนี้ อีกปัญหาที่พบได้คือ การแกล้งกันในโรงเรียน (Bullying) อาจด้วยคำพูด ล้อเลียน ดูถูก ข่มขู่ ตบตี ชกต่อย ไม่ให้เข้ากลุ่ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กอย่างมาก ทำให้เกิดความเครียด หวาดกลัว ขาดความมั่นใจ ไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งครูจะต้องดูแลจัดการกลุ่มเด็กที่ชอบแกล้ง และให้ความช่วยเหลือกลุ่มเด็กที่ถูกแกล้ง เพื่อทางออกให้เด็ก เช่น มีบัดดี้ ส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อฝึกทักษะการอยู่ร่วมในสังคม ที่สำคัญพ่อแม่ไม่ควรห่วงหากเด็กร่วมกิจกรรมแล้วจะไม่สนใจเรียน เพราะสิ่งนี้จะฝึกฝนให้เด็กเสริมสร้างพัฒนาการและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต
ข่าวเด่น