ภารกิจพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกำหนดการเดินทางเยือนนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการ (Working Visit) ระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤษภาคม 2559 และการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหพันธรัฐรัสเซีย สมัยพิเศษ (ASEAN – Russia Commemorative Summit) ระหว่างวันที่ 19–21พฤษภาคม 2559
นายกรัฐมนตรีได้หารือกลุ่มเล็กกับนายดมิทรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ณ Boris Yeltsin Presidential Library
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ยืนยันจะเดินหน้าฉลองครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตรัสเซีย-ไทย และการเดินทางมาเยือนของนายกรัฐมนตรีไทยครั้งนี้ มีการลงนามเอกสารหลายฉบับ แปลว่าไทยเป็นหุ้นส่วนหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในอนาคตทั้งสองประเทศจะมีศักยภาพในการพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีมากขึ้น
ด้าน นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่า การพบกันมีความคืบหน้าทุกครั้ง ไม่ใช่เฉพาะไทยกับรัสเซีย แต่เป็นความสัมพันธ์ของรัสเซียและอาเซีย ยืนยันไทยให้ความสำคัญกับรัสเซีย เห็นได้จากการส่งรองรัฐมนตรมาเยือนแล้วก่อนหน้านี้ 2 คน และในคณะครั้งนี้ก็มีรัฐมนตรีมาด้วย 7 กระทรวง ซึ่งไทยไม่เคยส่งรัฐมนตรีไปลักษณะนี้มาก่อน
จากนั้นในเวลา 15.45 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีเต็มคณะกับนายดมิทรี เมดเวเดฟ (Mr. Dmitry Medvedev) นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย ณ Boris Yeltsin Presidential Library
(นรม. พบหารือกับ นายดมิทรี เมดเวเดฟ 3 ครั้ง คือ (1) การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 57 (2) การเยือนไทยอย่างเป็นทางการ วันที่ 8 เม.ย. 58 ณ ทำเนียบรัฐบาล และ (3) การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 23 วันที่ 18 พ.ย. 58 ณ กรุงมะนิลา)
โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมแถลงข่าวกับนายกรัฐมนตรีรัสเซีย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้มาเยือนสหพันธรัฐรัสเซียใน 2 ภารกิจสำคัญ ทั้งการเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีเมดเวเดฟ และการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษ ตามคำเชิญของประธานาธิบดีปูติน พร้อมขอบคุณรัฐบาลรัสเซียที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่เป็นบ้านเกิดเของทั้งประธานาธิบดีปูติน และนายกรัฐมนตรีเมดเวเดฟ นอกจากนี้ ยังนครที่มีความมสำคัญยิ่งในความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับรัสเซีย ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนจักรวรรดิรัสเซียที่เมืองแห่งนี้เมื่อ 119 ปีที่แล้ว และเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-รัสเซียมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ รัฐบาลรัสเซียและรัฐบาลแห่งนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กยังได้ถวายการต้อนรับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในฐานะผู้แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อปี พ.ศ. 2550 ในโอกาสเฉลิมฉลองการครบรอบ 110 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ
โดยในการหารือ ไทยและรัสเซียเห็นพ้องที่จะร่วมกันฉลองวาระครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตในปีหน้า อีกทั้งนายกรัฐมนตรียังได้เสนอที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยบำรุงรักษาและสอนวิธีการรักษาของขวัญที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแก่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซียด้วย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันที่จะนำของขวัญเหล่านี้ไปจัดแสดงให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายได้ชม ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะร่วมกันพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่ศักราชใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นทิศทางความร่วมมือที่สำคัญในอนาคต ที่จะช่วยเตรียมความพร้อมของไทยและรัสเซียในการก้าวไปสู่อนาคตร่วมกัน โดยผู้นำทั้งสองได้หารือถึงแนวทางในการขยายความร่วมมือระหว่างกัน
ในด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะยกระดับมูลค่าการค้าให้สูงขึ้น โดยเห็นพ้องกันที่จะผลักดันให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น 5 เท่า ภายใน 5 ปี (หรือ1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งกลไกเพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนมีการเจรจาการซื้อขายสินค้าและบริการประเภทต่าง ๆ ระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีสนับสนุนข้อเสนอของรัสเซียที่เสนอขายสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของรัสเซียเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมไทยที่จะมีแหล่งเครื่องจักรอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการผลิต นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอให้รัสเซียพิจารณาการนำเข้าสินค้าทางการเกษตร และอาหารจากไทยมากขึ้น เนื่องจากไทยเป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของโลก ซึ่งสามารถช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้แก่รัสเซีย
นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำคำเชิญให้รัสเซียเข้าไปลงทุนในซุเปอร์คลัสเตอร์และเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมดิจิทัล อากาศยาน เทคโนโลยีชีวภาพ และนาโนเทคโนโลยี และใช้ไทยเป็นประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงด้านกฎหมาย และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่นายกรัฐมนตรีรัสเซียสนับสนุนไทยในการจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งช่วยยกระดับความเป็นหุ้นด้านเศรษฐกิจไทย-รัสเซียในคราวเดียวกันด้วย โดยการจัดทำ FTA ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียยังจะช่วยขยายตลาดสินค้าและบริการของไทยในภูมิภาคยูเรเชีย เพราะเขตเศรษฐกิจยูเรเชียประกอบด้วยประเทศผู้ส่งออกพลังงานรายสำคัญของโลก และมีประชากรที่มีกำลังซื้อรวมกันถึง 180 ล้านคน โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณรัสเซียที่จะสนับสนุนไทยในการกระบวนการเจรจาจัดทำ FTA นี้
ด้านพลังงาน นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่วันนี้ บริษัท ปตท. ของไทยได้ลงนามใน MOU กับภาคเอกชนของรัสเซีย ซึ่งจะครอบคลุมธุรกิจในหลายรูปแบบ ทั้งการลงทุน การร่วมลงทุนเพื่อการสำรวจและผลิต และการซื้อขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่าง ๆ ทั้งในรัสเซีย ไทย และประเทศที่สาม
ทั้งนี้ ไทยประสงค์ที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับรัสเซีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านนี้สูงมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนหน่วยงานด้านเทคโนโลยีอวกาศของรัสเซียมาร่วมจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทยด้วย เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้เยาวชนไทยมีความสนใจด้านเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีเมดเวเดฟ ที่สนับสนุนให้มีการลงนามเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กับ Skolkovo Innovation Center เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์ไทยและรัสเซีย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจสตาร์อัพ (Startups) ของไทยที่เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเติบโตไปพร้อมกัน
ด้านการศึกษา นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัสเซียที่ได้ให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนไทยไปศึกษาต่อที่ประเทศรัสเซียปีละ 20 ถึง 40 โดยได้กล่าวขอให้รัสเซียสนับสนุนการจัดตั้งคณะทำงานร่วม (Joint Working Group) ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการไทยกับกระทรวงการศึกษาและวิทยาศาสตร์รัสเซีย เพื่อเป็นกลไกในการผลักดันให้มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ความตกลงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างรัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซียกับรัฐบาลไทย
ด้านการท่องเที่ยว ไทยยินดีที่ การบินไทยจะกลับมาเปิดเที่ยวบินกรุงเทพฯ - มอสโกอีกครั้งในปลายปีนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นว่าตลาดนักท่องเที่ยวรัสเซียเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำกับนายกรัฐมนตรีรัสเซียว่า ไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและรัฐบาลไทยพร้อมที่จะให้การดูแลความปลอดภัยและสวัสดิภาพของนักท่องเที่ยวรัสเซียและชาติอื่น ๆ ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวไทยก็สนใจเดินทางมาเที่ยวรัสเซียเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่คณะทำงานด้านการท่องเที่ยวไทย-รัสเซีย ได้มีการหารือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน เช่น ไทยเสนอการจัด familiarization trip รวมทั้งการจัดกิจกรรมสำคัญเพื่อรอรับการที่การบินไทยกลับมาเปิดการบินเที่ยวบิน กทม. – มอสโกอีกครั้ง และยังเห็นพ้องกับการบรรจุกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวร่วมเป็นหนึ่งในการจัดงานสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 120 ปี ในปีหน้า
ด้านวัฒนธรรม ผู้นำไทยและรัสเซียเห็นพ้องให้มีการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเฉลิมฉลอง 120 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยที่ได้จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายโดยฝีมือท่านนายกรัฐมนตรีเมดเวเดฟที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นภาพถ่ายระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในและต่างประเทศรวมถึงภาพถ่ายในระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2558 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีการเถลิงถวัลย์ราชสมบิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ การเฉลิมฉลอง 125 ปี การเสด็จเยือนสยามของซาร์เรวิช นิโคลัส มกุฏราชกุมารแห่งรัสเซีย รวมทั้งเป็นการเริ่มต้นการฉลองวาระครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2560
โดยกระทรวงวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่ายได้เตรียมจัดกิจกรรมสำหรับการฉลองวาระดังกล่าว ทั้งในกรุงเทพฯ กรุงมอสโก และนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การฉลองวาระดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ และเป็นการกระชับความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีรัสเซียได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงภาครัฐ 6 ฉบับ ซึ่งครอบคลุมด้านการเกษตร การประมง การทหาร การแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม และความตกลงในส่วนของภาคเอกชน 8 ฉบับ ซึ่งครอบคลุมด้านพลังงาน ด้านวิทยาศาสตร์และการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งจะช่วยสร้างเครือข่ายธุรกิจการค้าระหว่าง SMEs ในทั้งสองประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอให้ทั้งสองฝ่ายเร่งรัดการดำเนินการตามความตกลงที่ได้ลงนามเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อประเทศชาติและประชาชนของทั้งสองฝ่าย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลรัสเซียอีกครั้งหนึ่งที่ได้ต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยยินดีจะได้เข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีปูตินที่โซชิในวันพรุ่งนี้ เพื่อหารือและพูดคุยถึงแนวทางในการดำเนินความสัมพันธ์เพื่อสานต่อความร่วมมือและความสัมพันธ์ให้พัฒนายิ่งขึ้นต่อไป
ข่าวเด่น