ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กฟผ.แจงข้อเท็จจริงประเด็นค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้นไม่สอดคล้องกับราคาเชื้อเพลิง


 


การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงข้อมูลกรณีคอลัมน์หนังสือพิมพ์ ได้นำเสนอข่าว โดยมีประเด็นสงสัยเกี่ยวกับ ค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับราคาเชื้อเพลิง ราคาพลังงานที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งราคาก๊าซธรรมชาติและราคาน้ำมันลดลง แต่ทำไมค่าไฟกลับไม่ได้ลดลง อีกทั้งยังกล่าวถึงการทำงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่สั่งให้โรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก่อน แทนที่จะสั่งให้โรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำสุดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก่อน เพื่อไม่ให้ค่าไฟสูงเกิน นั้น

  กฟผ. ขอเรียนชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง ดังนี้

1. ค่าเอฟที คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า Ft ตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน อย่างต่อเนื่องรวม 5 งวด กล่าวคือปี 2558 ปรับลด 3 งวด และปี 2559 ถึงปัจจุบัน ปรับลดอีก2 งวด รวมลดลง 52.68 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเป็นการปรับลดลงตามราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดตามราคาน้ำมันเป็นหลัก เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติภายในประเทศผูกกับราคาน้ำมันในตลาดโลกประมาณ ร้อยละ 30-40 โดยราคาก๊าซธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลงตามหลังราคาน้ำมันประมาณ 6 – 18 เดือน

2. การปฏิบัติการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า การสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของ กฟผ. มีหลัก 4 ประการ คือ (1.) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนทั้งปริมาณและลักษณะการใช้ไฟฟ้า (2.) เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงภายใต้ข้อจำกัด (3.) สอดคล้องกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ และ (4.) ให้มีต้นทุนการผลิตโดยรวมที่เหมาะสม โดยมีลำดับการวางแผนและสั่งการ ดังนี้

 การสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเพื่อให้เกิดความมั่นคงในระบบ ต้องพิจารณาภายใต้ข้อจำกัด เช่น ปริมาณกำลังไฟฟ้าที่สามารถส่งผ่านระบบส่งไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ๆ มีความต้องการไฟฟ้าสูง ทั้งนี้ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ จะพิจารณาสั่งจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่สามารถส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าเป็นลำดับแรก

นอกจากนี้ การสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะต้องพิจารณาตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ได้แก่ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดซึ่งเป็นไปตามนโยบายภาครัฐ เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล พลังงานลม แสงอาทิตย์ การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก การผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน (Cogeneration) ของโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) และโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้ง สั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามสัญญา ซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีลักษณะเป็น Take or Pay หรือ กำหนดปริมาณรับซื้อก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำไว้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดหลักประกันด้านเชื้อเพลิงในระยะยาว

ภายใต้ข้อจำกัดด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติตามที่กล่าวมา ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติจะพิจารณาสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำที่สุดตามลำดับ (Merit Order) เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมให้มีความเหมาะสม

จากหลักการที่กล่าวมา การดำเนินงานของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ จะคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นที่ตั้ง ทั้งด้านความมั่นคง เชื่อถือได้ คุณภาพ ความเพียงพอต่อเนื่อง และต้นทุนการผลิตเป็นสำคัญ ซึ่งศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติจะต้องสั่งการด้วยความเป็นธรรมต่อผู้ผลิตไฟฟ้าทุกภาคส่วน ตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ต้องสั่งให้ผู้ผลิตไฟฟ้าดำเนินการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นธรรม และจะเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมิได้ โดยมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำกับดูแล


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 พ.ค. 2559 เวลา : 18:48:26

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:11 am