นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า จากนโยบายของพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้กรมการข้าวเป็นหน่วยงานหลักดูแลข้าวทั้งระบบของประเทศ โดยมีแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2559/2560 นำร่องการปฏิรูปข้าวเพื่อเป็นโมเดล ในการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ วางแผนการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวทั้งประเทศ 62.12 ล้านไร่ ในรอบที่ 1 ปีเพาะปลูก 2559/60 มีพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าว 54.80 ล้านไร่
กรมการข้าวมีความพร้อมสนับสนุนชาวนาเข้าสู่ฤดูกาลผลิตตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป โดยประเด็นที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการปลูกข้าว สำหรับการเพาะปลูกข้าวในรอบที่ 1 ปีเพาะปลูก 2559/2560 นั้น กรมการข้าวประมาณการเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่ชาวนาต้องใช้ในพื้นที่ 54.80 ล้านไร่ จำนวน 789,120 ตัน โดยมีเมล็ดพันธุ์ข้าวรองรับความต้องการซื้อของชาวนา จำนวน 268,462 ตัน จากการผลิตของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 23 ศูนย์ทั่วประเทศได้ จำนวน 62,124 ตัน สหกรณ์การเกษตร จำนวน 31,190 ตัน ศูนย์ข้าวชุมชน 49,448 ตัน และผู้ประกอบการซึ่งเป็นสมาคม ชมรมผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นเครือข่ายของกรมการข้าว อีกจำนวน 125,700 ตัน
ทั้งนี้ ยังมีเมล็ดพันธุ์ข้าวอีกว่า 500,000 ตัน ที่มาจากการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองของชาวนา หรือจากการแลกเปลี่ยนนำเมล็ดพันธุ์ข้าวจากเพื่อบ้านมาปลูก หรือกู้ยืมเมล็ดพันธุ์ข้าวจากธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ที่เป็นสมาชิก ซึ่งกรมการข้าวได้สนับสนุนการจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันมีธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวรวมทั้งสิ้น 73 แห่ง ใน 36 จังหวัด ทำให้ชาวนาเข้าถึงเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีและมีไว้ใช้หมุนเวียนในชุมชน
“อย่างไรก็ดี เพื่อให้ฤดูการเพาะปลูกนี้มั่นใจได้ว่าชาวนาได้ใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี กรมการข้าวจึงสั่งการให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและศูนย์วิจัยข้าวที่กระจายอยู่ทั่วประเทศทั้ง 51 ศูนย์ จัดรถหน่วยบริการเคลื่อนที่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม ออกสำรวจปริมาณและสุ่มเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ชาวนาเก็บไว้ใช้เอง มาวิเคราะห์คุณภาพ เช่น ความงอก พันธุ์ปน ข้าวแดง หากพบว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ไม่มีคุณภาพแล้ว ก็จะแนะนำให้เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ใหม่โดยการซื้อหรือแลกเปลี่ยนจากแห่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ควบคู่กับ การให้บริการความรู้แก่ชาวนาในการคัดเลือก ทำความสะอาด และเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างถูกต้อง ตามหลักวิชาการเพื่อช่วยยืดอายุของเมล็ดพันธุ์ให้ยาวนานขึ้น ตลอดจนป้องกันความเสียหายจากแมลงศัตรูและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จึงมั่นใจได้ว่าเมื่อเพาะปลูกข้าวครั้งนี้แล้ว จะได้ผลผลิตที่มีคุณลักษณะตรงตามชนิดพันธุ์ และมีผลผลิตเพิ่มขึ้น” อธิบดีกรมการข้าวกล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น