ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เกษตรฯปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 10 ประเด็นหลักตั้งรับแข่งขันทางการค้า


 


กรมวิชาการเกษตรเร่งตีกรอบเสริมเกราะธุรกิจ-อุตสาหกรรม “พันธุ์พืชใหม่” เตรียมพร้อมเข้าสู่ภาคีอนุสัญญา UPOV ชี้มีทั้งผลบวก-ลบ รุดปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 10 ประเด็นหลัก ตั้งรับแข่งขันทางการค้า ยกระดับรายได้เกษตรกร

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรณีที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาคประชาสังคม นักวิชาการ เกษตรกร และผู้ประกอบการ มีข้อกังวลและเกรงว่าจะมีผลกระทบจากการที่ไทยจะเข้าสู่ภาคีสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรืออนุสัญญายูพอฟ 1991 (UPOV 1991) ภายใต้เงื่อนไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งประเทศไทยจะได้รับผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบหากจะเข้าเป็นสมาชิก TPP จึงมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งให้ความรู้เรื่องอนุสัญญายูพอฟ 1991 และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกรผู้เพาะปลูกพันธุ์พืช นักปรับปรุงพันธุ์พืช ภาคประชาสังคม  ภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา
 
 
 
ขณะเดียวกันต้องเร่งวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความก้าวหน้าด้านการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชของไทย โดยภาครัฐและสถาบันการศึกษาต้องเร่งพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ที่มีคุณภาพสูงและมีลักษณะที่ดี เพื่อสามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ และให้เกษตรกรได้ใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาราคาเมล็ดพันธุ์ที่อาจปรับตัวสูงขึ้น และภาครัฐต้องนำพันธุ์พืชใหม่ที่ปรับปรุงพันธุ์ได้เข้าสู่ระบบจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ทั้งหมด
 

ทั้งนี้ นอกจากการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีความรู้เรื่องอนุสัญญายูพอฟ 1991 แล้ว ยังต้องเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อยกระดับเกษตรกรจากผู้รับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์ให้สามารถเป็นนักปรับปรุงพันธุ์และเป็นเจ้าของพันธุ์พืชได้ ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้เกษตรกรสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของพันธุ์พืชให้อยู่ในระดับที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และต้องเพิ่มศักยภาพหน่วยงานกำกับดูแลกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ทั้งบุคลากรและเทคโนโลยีการตรวจสอบพันธุ์พืช ให้ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับหรือสูงกว่าประเทศคู่แข่งทางการค้าด้วย เนื่องจากอนุสัญญายูพอฟ 1991 ให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่หรือให้สิทธินักปรับปรุงพันธุ์ในระดับที่สูงกว่ากฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย
 
 
 
ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช  พ.ศ.2542 ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติตามอนุสัญญายูพอฟ และเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นสมาชิก TPP  ในอนาคตหากหลีกเลี่ยงไม่ได้  โดยมีหลายประเด็นที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว เช่น ชนิดพืชที่จะได้รับการคุ้มครอง ความใหม่ (Novelty) ของพันธุ์พืชที่ขอจดคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ การให้ความคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ชั่วคราว อายุการคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์ และข้อกำหนดเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ เป็นต้น นายสมชาย กล่าว

 
“ความตกลง TPP ปัจจุบันมีสมาชิก 12 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม มีประชากรรวมกว่า 800 ล้านคน โดยความตกลง TPP ถือเป็นความตกลงระดับภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ครอบคลุมการค้าโลกประมาณร้อยละ 40 ด้วยมูลค่าการค้าเฉลี่ยประมาณ 295,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยจีดีพี (GDP) รวมของทั้ง 12 ประเทศมีมูลค่า 28.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 38 ของ GDP โลก ซึ่งปี 2558 ที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก TPP อยู่ที่ 163,911 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยังตลาด TPP มูลค่า 83,317 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 41.2 ของการส่งออกไทยไปตลาดโลก ขณะที่ไทยมีการนำเข้าจากประเทศสมาชิก TPP มูลค่า 75,593 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 37.3 ของการนำเข้าจากตลาดโลก” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
 

บันทึกโดย : วันที่ : 21 พ.ค. 2559 เวลา : 07:55:17

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:02 am