รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 69 ที่สมาพันธรัฐสวิส และได้กล่าวถ้อยแถลง “การเปลี่ยนแปลงของโลกสู่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030" พร้อมหารือกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เพื่อเชิญร่วมการประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 11 ที่ประเทศไทยในต้นปีพ.ศ. 2560 รวมทั้งการหารือทวิภาคีความร่วมมือสาธารณสุขกับรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ ศรีลังกา เมียนมาร์ และรัฐมนตรีสาธารณสุข 7 ประเทศกลุ่มประเทศ FPGH ร่วมกับเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ
วันนี้ (21 พฤษภาคม 2559) ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางพร้อมคณะ ไปร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 69 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 23-26 พฤษภาคม 2559 ทั่วโลกร่วมประชุม ว่า ในการเปิดประชุมวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ประเทศไทย ได้รับเกียรติให้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ซึ่งมีประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก 194 ประเทศเข้าร่วมประชุม ภายใต้หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงของโลกสู่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนค.ศ. 2030 (Transforming our World : The 2030 Agenda for Sustainable Development) ในประเด็นปัจจัยที่จะผลักดันให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ขององค์การสหประชาชาติ และการปาฐกถาวิชาการ เรื่อง การสาธารณสุขในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030: บทบาทของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (Health in the 2030 Agenda for Sustainable Development: intersectoral action)
พร้อมทั้งปาฐกถาประเด็นความสำคัญของการส่งเสริมการออกกำลังกาย ในการประชุมคู่ขนาน “Towards Achieving the Physical Activity Target 2015 (10x25). Are We Walking the Talk” จัดโดยไทย ฟินแลนด์ อิหร่าน ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา โดยจะเชิญแพทย์หญิงมากาเรต ชาน (Dr. Margaret Chan) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เข้าร่วมการประชุมรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล (Prince Mahidol Award Conference) ครั้งที่ 11 ซึ่งกำหนดจัดที่กรุงเทพฯ วันที่ 9 มกราคม -3 กุมภาพันธ์ 2560
นอกจากนี้ จะร่วมประชุมหารือระดับรัฐมนตรีกลุ่มรัฐมนตรีสาธารณสุข Foreign Policy and Global Health Initiative หรือ FPGH ซึ่งเป็นความร่วมมือของประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการทูตเพื่อสาธารณสุข 7 ประเทศ ได้แก่ นอร์เวย์ ฝรั่งเศส บราซิล อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ เซเนกัล และไทย รวมทั้งมีการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ ศรีลังกา และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
ข่าวเด่น