ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “2 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17 – 18 พฤษภาคม 2559 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจาย ทั่วทุกภูมิภาค และระดับการศึกษา รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และความสุขของคนในชาติ หลังจากครบรอบ 2 ปี ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงระดับความสุขของประชาชนในโอกาสครบรอบ 2 ปี ของ คสช. ในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.28 ระบุว่า มีความสุขเท่าเดิม เพราะ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่แตกต่าง จากที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจปากท้องที่ยังต้องการได้รับการแก้ไขอยู่ บางอย่างก็ดีขึ้นแต่บางอย่างก็แย่ลง ผลงานยังไม่เห็นเด่นชัด เป็นรูปธรรม การบริหารงานยังไม่ทั่วถึง และแก้ไขไม่ตรงจุด และบางนโยบายของ คสช. ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน
รองลงมา ร้อยละ 37.68 ระบุว่า มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะ บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่วุ่นวาย ไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองโดยเฉพาะปัญหาเรื่องการชุมนุม การแบ่งพรรคแบ่งพวก ประชาชนไม่เครียด ในการดำรงชีวิตของประชาชนดีขึ้นกว่าเดิม รู้สึกปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น มีการบังคับใช้กฎหมายบางข้อที่เข้มงวดมากขึ้น คณะทำงาน คสช. ทำงานรวดเร็ว และประสานงานกับรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ การสานต่อนโยบายต่าง ๆ มีความต่อเนื่องและรวดเร็ว เช่น การคมนาคม ขณะที่ ร้อยละ 18.24 ระบุว่า มีความสุขลดลง เพราะ เศรษฐกิจไม่ดี ข้าวของแพงขึ้น รายรับไม่พอกับรายจ่าย เกษตรกรลำบาก โดยเฉพาะราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำลง ซึ่งเมื่อก่อนดีกว่านี้ ประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ และการทำงานบางครั้งมีการใช้ระบบทางทหารและอำนาจทางการเมืองมากเกินไป เช่น การจำกัดสิทธิเสรีภาพในแสดงออกทางความคิดเห็น ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งส่งผลต่อการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของประเทศ ร้อยละ 0.40 อื่น ๆ ได้แก่ บางอย่างมีความสุขเพิ่มขึ้น บางอย่างมีความสุขลดลง และร้อยละ 0.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ 1 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่ทำการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนลดลง (จากเดิม ร้อยละ 49.44) ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเท่าเดิม มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น (จากเดิม ร้อยละ 40.72) เช่นเดียวกับสัดส่วนของผู้ที่มีความสุขลดลง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น (จากเดิม ร้อยละ 18.24)
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานราชการแผ่นดินครบรอบ 2 ปี ของ คสช. ในประเด็นต่าง ๆ ที่ทำให้มีความสุขมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.96 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 55.76) ระบุว่า บ้านเมืองสงบเรียบร้อยไม่มีความวุ่นวาย ทางการเมือง รองลงมา ร้อยละ 14.16 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 10.80) ระบุว่า ไม่มีประเด็นใดที่ทำให้มีความสุข ร้อยละ 11.68 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 9.76) ระบุว่า การมุ่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ร้อยละ 8.00 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 8.48) ระบุว่า การจัดระเบียบสังคม เช่น การจัดระเบียบทางเท้า การจัดระเบียบชายหาด ร้อยละ 2.88 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 3.52) ระบุว่า การแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 2.08 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 2.56) ระบุว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม ร้อยละ 1.84 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 1.20) ระบุว่า การแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร ร้อยละ 1.12 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 1.36) ระบุว่า การมีเสรีภาพมากขึ้น ร้อยละ 0.96 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 2.48) ระบุว่า การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 2.88 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 1.60) ระบุ อื่น ๆ เช่น การดูแลธรรมชาติยึดคืนพื้นที่ป่า การปราบผู้มีอิทธิพล ยาเสพติด การเพิ่มวันหยุด และร้อยละ 1.44 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 2.48) ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายสุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานราชการแผ่นดินครบรอบ 2 ปี ของ คสช. ในประเด็นต่าง ๆ ที่ยัง ไม่สามารถทำให้มีความสุข พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 29.36 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 19.36) ระบุว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมรองลงมา ร้อยละ 15.84 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 25.60) ระบุว่า ไม่มีประเด็นใดที่ไม่มีความสุข ร้อยละ 14.40 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 13.20) ระบุว่า การแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร ร้อยละ 11.92 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 17.12) ระบุว่า การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 7.60 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 5.68) ระบุว่า การที่ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 5.20
(ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 3.44) ระบุว่า การแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 4.88 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 5.60) ระบุว่า การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ร้อยละ 2.24 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 2.24) ระบุว่า การมีเสรีภาพที่ยังไม่เต็มที่ของสื่อมวลชน ร้อยละ 1.84 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 0.96) ระบุว่า เรื่องการจัดระเบียบสังคม เช่น การจัดระเบียบทางเท้า การจัดระเบียบชายหาด ร้อยละ 4.40 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 3.60) ระบุอื่น ๆ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับภัยแล้ง ภัยพิบัติ ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ความขัดแย้งทางการเมือง การปฏิรูปตำรวจ ปัญหาระบบหน่วยงานราชการ ปัญหาแรงงานไทย การบริหารโดย คสช. ร้อยละ 0.48 ระบุว่า ทุก ๆ เรื่องที่กล่าวมา และร้อยละ 1.84 (ผลสำรวจเมื่อ พ.ค. 58 ร้อยละ 3.20) ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ข่าวเด่น