ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สบส. เผยหลังใช้กม.อุ้มบุญมีผู้สนใจโทรปรึกษาเดือนละกว่า 250 ครั้ง ยื่นเรื่องแล้ว 50 คู่


 


กรม สบส.เผยหลังบังคับใช้กฎหมายอุ้มบุญเกือบ 10 เดือน มีผู้สนใจโทรปรึกษาเดือนละกว่า 250 ครั้ง ยื่นเรื่องมาแล้ว 50 คู่ ทำอุ้มบุญไปแล้ว 8 คู่ จ่อคิวรออีก 12 คู่แนะคู่สมรสทั้งไทย-เทศ รวมถึงผู้ดำเนินการให้บริการเทคโนโลยีอุ้มบุญทั่วประเทศ ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด  ห้ามทำเอเจนซี่หรือนายหน้า ห้ามซื้อขายไข่ อสุจิ หรือหาแม่รับจ้างอุ้มบุญ พร้อมทั้งเร่งประสานขอความร่วมมือสถานทูตไทย ประชาสัมพันธ์ให้คู่สมรสต่างชาติที่มีบุตรยาก สามารถรับคำปรึกษาได้ 
 

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ให้สัมภาษณ์ ความคืบหน้าการบังคับใช้ “พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558” หรือกฎหมายอุ้มบุญ ว่า  วัตถุประสงค์ของการมีกฎหมายฉบับนี้  เพื่อช่วยให้คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีบุตรยาก  ซึ่งในประเทศไทยพบได้ประมาณร้อยละ 15   ได้มีบุตรตามต้องการโดยอาศัยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มาช่วย  โดยให้หญิงอื่นที่เป็นญาติสายตรงของฝ่ายสามีหรือภรรยาช่วยตั้งครรภ์ให้แทน   ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแพทย์ที่มีความสามารถและเทคโนโลยีฯที่ทันสมัย ทำให้อัตราการตั้งครรภ์สำเร็จจากการผสมเทียมสูงถึงร้อยละ 40   ซึ่งพระราชบัญญัติฯฉบับนี้  นับว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่มีการควบคุมกำกับการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์อย่างชัดเจน
 

“จากการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นมา รวมเกือบ 10 เดือน พบว่ามีผู้ให้ความสนใจสอบถามไป ยังสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เพื่อปรึกษาข้อกฎหมาย การดำเนินการด้านเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ รวมทั้งการขอรับรองมาตรฐานการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ของสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนเฉลี่ยเดือนละ 250 ครั้ง   โดยมีคู่สมรสที่มีบุตรยาก ยื่นเอกสารประสงค์จะให้ตั้งครรภ์แทนแล้ว 50 คู่  คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทน   ได้พิจารณาอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนแล้ว 8 คู่  และในเดือนพฤษภาคม 2559นี้ คณะอนุกรรมการฯจะประชุมพิจารณาอีก 12 คู่” อธิบดีกรม สบส. กล่าว

อธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อไปว่า ขอเน้นย้ำให้สถานพยาบาลที่ให้บริการด้วยวิธีนี้ และคู่สมรสที่มีบุตรยาก ศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างถี่ถ้วน   ห้ามดำเนินการทำอุ้มบุญหรือใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์โดยมิได้รับอนุญาตโดยเด็ดขาด  และไม่มีการซื้อขายใดๆ ทั้งสิ้น    หากฝ่าฝืนมีโทษตั้งแต่จำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 2 หมื่น – 2 แสนบาท 

ด้าน นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสบส. กล่าวว่า ขอให้ทุกฝ่ายยึดหลักเกณฑ์ของกฎหมายอุ้มบุญ ด้วยหลักการง่ายๆ คือ “7 ห้าม 2 มี 3 ขอ” ก่อนดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีฯ มีดังนี้ 7 ห้าม ได้แก่ ห้ามเลือกเพศ ห้ามขายไข่/อสุจิ ห้ามรับจ้างตั้งท้อง  ห้ามโฆษณา ห้ามโคลนนิ่ง ห้ามมีคนกลางหรือเอเจนซี่  ห้ามคู่สมรสต่างชาติทั้งคู่   แต่หากคู่สมรสชาวต่างชาติต้องการคำปรึกษา หรือรับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เช่นการทำกิ๊ฟท์ (GIFT) ทำซิฟท์ (ZIFT) ผสมเทียม (IUI)  ก็สามารถทำได้    โดยกรมสบส.จะประสานขอความร่วมมือสถานทูตไทย ช่วยประชาสัมพันธ์ต่อไป  ทั้งนี้ที่ผ่านมาชาวต่างชาติ อาทิ อิสราเอล ออสเตรเลีย บราซิล และอเมริกา ให้การยอมรับฝีมือ และเดินทางเข้ามารับบริการกับแพทย์และสถานพยาบาลของไทย  
 

 2 มี  ได้แก่  มีแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภาว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน ซึ่งในประเทศไทยมีประมาณ 200 กว่าคน           และมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน   ส่วน 3 ขอ ได้แก่1.ต้องขออนุญาตเปิดเป็นสถานพยาบาลที่ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์  2.ขออนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนเป็นรายคู่ อนุญาตเฉพาะคู่สมรสไทยที่สมรสถูกต้องตามกฎหมาย หรือคนไทยที่สมรสกับต่างชาติและจดทะเบียนสมรสมาแล้วอย่างน้อย 3 ปีเท่านั้น  และ3. ขออนุญาตให้มีการวิจัยตัวอ่อนจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

 “หากทุกฝ่ายร่วมมือกันปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด   เชื่อว่าจะช่วยยกระดับมาตรฐาน ความก้าวหน้าเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯของไทย และสร้างชื่อเสียงในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) อันดับ 1 อย่างแน่นอน หากมีข้อสงสัย หรือต้องการคำปรึกษาสามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ชั้น 4 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์  02-193-7000 ต่อ18419 หรือ18418 และเฟซบุ๊คกลุ่มคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์” นายแพทย์ภัทรพลกล่าว
 

บันทึกโดย : วันที่ : 22 พ.ค. 2559 เวลา : 11:48:11

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:04 pm