สสว.นำผู้ประกอบการร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้าเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 ณ ศูนย์แสดงสินค้าช่องแคบทะเลนานาชาติฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้แนวคิด “ คาราวานแบรนด์ไทยไปทั่วจีน ” เผยเนื้อจระเข้ทุบ น้ำมันนวด ผลไม้แปรรูป น้ำมันกฤษณา เครื่องสำอางนาโน ได้รับความสนใจจากแดนมังกรเป็นอย่างมาก
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการขยายตลาดสินค้าไทยสู่ประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย สสว. จึงได้พาคณะผู้ประกอบการในโครงการ Stronger SMEs ไปร่วมงาน มหกรรมแสดงสินค้าเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18 - 22 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์แสดงสินค้าช่องแคบทะเลนานาชาติฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเป็นการจัดงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศฝูโจว รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “คาราวานแบรนด์ไทยไปทั่วจีน” โดยได้เข้าร่วมในงานแสดงสินค้าเมืองต่างๆ ทั่วภูมิภาคของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีศักยภาพทางการตลาด ซึ่งมณฑลฝูเจี้ยนเป็นมณฑลที่มีระดับความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง ประชากรในพื้นที่มีกำลังบริโภคสูง
ภายในงานมีกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมและผลักดันการลงทุนทางธุรกิจ อาทิ การจัดประชุมและสัมมนาการเชื่อมโยงทางธุรกิจ ตามยุทธศาสตร์แนวเขตเศรษฐกิจตามเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 การให้คำแนะนำทางด้านการค้าและการลงทุนในโครงการต่างๆ กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ โดยสินค้าที่ได้รับการสนใจมากจากตลาด ได้แก่ เนื้อจระเข้ทุบ น้ำมันนวด ผลไม้แปรรูป น้ำมันกฤษณา เครื่องสำอางนาโน เป็นต้น
นอกจากนี้ สินค้าไทยเป็นที่นิยมในเมืองฝูโจว คือ ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ข้าวหอมมะลิ ผลไม้สด และผลไม้แปรรูป (ทุเรียน) ขนมขบเคี้ยว อาหารว่าง สินค้าหัตถกรรมและของใช้ภายในบ้าน เช่น เครื่องสาน สินค้าตกแต่ง ผ้าไหม เครื่องประดับ และเครื่องหนังจระเข้ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของไทย เช่น น้ำมันนวด ผลิตภัณฑ์สปา ครีมมาส์กหน้า เป็นต้น โดยรัฐบาลเมืองฝูโจวมีกลยุทธ์ในการส่งเสริมธุรกิจการนำเข้าและส่งออกอย่างสมดุล จึงเป็นการดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาใช้นโยบายการให้สิทธิพิเศษนี้
นางสาลินีกล่าวต่อไปว่า จากการไปดูงานในครั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ขณะนี้มีหลายประเทศเข้าไปดำเนินการเปิดศูนย์กระจายสินค้าใน Free Trade Zone บ้างแล้ว แต่ยังมีรายการสินค้าน้อยมาก จึงถือเป็นโอกาสของสินค้าไทย หากมีรายการสินค้ามากพอ ก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นช่องทางการตลาดสำหรับ SME ไทยได้อีกทางหนึ่งโดยหากมีการจัดระบบการคัดเลือกและบริหารจัดการสินค้าให้มีจำนวนรายการมากเพียงพอที่จะช่วงชิงความได้เปรียบในช่วงเริ่มต้นนี้ได้ ก็จะสามารถพัฒนาให้ยั่งยืนได้ ภาครัฐต้องผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน
“ สินค้าไทยในตลาดนี้มีน้อย ถือเป็นการเปิดตัวให้ชาวฝูโจวได้รู้จักและทำให้ SMEs รู้จักพฤติกรรมผู้บริโภคที่นี่มากขึ้นและการทำค้า online จะเป็นประโยชน์ต่อสินค้าไทยมาก เนื่องจากมีฐานะเศรษฐกิจที่ดี ประชากรวัยหนุ่มสาวค่อนข้างมาก ” นางสาลินีกล่าว
ปัจจุบัน จีนเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่อันดับ 1 ของไทย โดยในปี 2557 มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังจีน มีถึง 806,483 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 11 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งหากพิจารณาในรายการสินค้าส่งออกของไทยจะพบว่า “กลุ่มสินค้าเกษตรไทย” ยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในตลาดจีน และเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่สำคัญ ต่อภาพรวมการส่งออกของไทย โดยสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ อาทิ ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง เป็นต้น ในขณะที่ประเทศไทยได้นำสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน มูลค่า 1,251,528 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.9 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมด โดยสินค้าหลักที่นำเข้าจากจีน อาทิ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า เป็นต้น ทั้งนี้ไทยเสียเปรียบดุลการค้าจีนมูลค่า 445,091 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 34.62
ข่าวเด่น