ในการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันท์โอชา) กับประธานาธิบดีรัสเซีย (นายวลาดีมีร์ ปูติน) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 และการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2559 ไทยได้ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับรัสเซียในทุกมิติทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคระหว่างอาเซียนและยูเรเชีย ทั้งด้านพลังงาน ทหาร การศึกษา การค้าและการลงทุน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) ได้เปิดเผยถึงผลการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันท์โอชา) กับประธานาธิบดีรัสเซีย (นายวลาดีมีร์ ปูติน) ในช่วงการเข้าร่วมประชุม สุดยอดอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษว่าทั้งสองฝ่าย ย้ำความร่วมมือที่จะเชื่อมโยงหลายมิติ เช่น ด้านพลังงาน ทหาร การศึกษา การค้าและการลงทุน ซึ่งหลายเรื่องยังมีอุปสรรค จึงต้องขจัดอุปสรรคระหว่างกันให้ได้ และดำเนินการให้เกิดความเชื่อมโยงกัน แม้ระยะทางห่างไกลกัน ซี่งสิ่งแรกที่ต้องทำคือการติดต่อของภาคประชาชน และภาคธุรกิจที่ค้าขายระหว่างกันบนความ ไว้เนื้อเชื่อใจกัน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียเป็น 5 เท่าและจะพยายามผลักดันสิ่งที่ได้ลงนามร่วมมือกัน ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ รัสเซียได้ย้ำว่าจะสนับสนุนไทยในการจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจ ยูเรเชียเพื่อสร้างโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งจะช่วยยกระดับความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจไทย – รัสเซียด้วย
สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษในโอกาสครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย นั้น บรรดาผู้นำที่เข้าร่วมประชุมได้ให้การรับรองปฏิญญาโซชิ ที่จะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์อาเซียนและรัสเซียให้มีความก้าวหน้า และรับทราบแผนปฏิบัติการอย่างครอบคลุมเพื่อส่งเสริมความร่วมมืออาเซียนกับรัสเซีย พ.ศ. 2016-2020 และรายงานข้อเสนอแนะแนวทางความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซียของกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิอาเซียน-รัสเซีย โดยผู้เข้าร่วมประชุมได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญ และความพร้อมที่จะยกระดับความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่างอาเซียน-รัสเซียในอนาคต ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ ความมั่นคงและสันติภาพของโลก ในขณะที่รัสเซียต้องการที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนและภาคตะวันออกไกลของรัสเซียในด้านต่าง ๆ ด้วย เช่นการขนส่ง การค้นหาพลังงาน สิ่งแวดล้อม การป้องกันและขจัดโรคระบาด/โรคติดต่อ และ การส่งเสริมด้านมนุษยธรรม เป็นต้น
ในด้านการค้า ผู้นำเห็นพ้องกับข้อเสนอแนะของคณะผู้ทรงคุณวุฒิอาเซียน-รัสเซีย (Eminent Person) ที่จะให้ตั้งเป้าหมายการค้าให้เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2025 ความเชื่อมโยงระหว่างนักธุรกิจอาเซียนและรัสเซีย และส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและยูเรเชีย และระหว่างอาเซียนและองค์กรความร่วมมือ เซี่ยงไฮ้ โดยเฉพาะความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ระหว่างอาเซียนและยูเรเซีย
ในระหว่างการเยือนรัสเซียครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะ ยังได้หารือกับภาคเอกชนไทย โดยผลสำเร็จของความร่วมมือของเอกชน ได้แก่ (1) การเชื่อมความสัมพันธ์กับห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และ Hypermarket LENTA ซึ่งเป็นห้างอันดับหนึ่งในนครเซ็นปีเตอร์เบิร์ก และอันดับ 5 ของรัสเซีย ซึ่งห้าง LENTA สนใจนำเข้าสินค้าเนื้อไก่ เนื้อหมู ปลาทูน่า และน้ำตาล (2) ความเชื่อมโยงกับกลุ่ม SYSTEMA เป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงพยาบาล รายใหญ่ของรัสเซีย ที่สนใจเชิญชวนบริษัทไทยร่วมลงทุนทำธุรกิจในรัสเซีย ในสาขา เกษตร telecom /IT โรงพยาบาล สปา และอาหารทะเล (3) การเชื่อมโยงกับหอการค้าเซ็นปีเตอร์เบิร์ก หอการค้ารัสเซีย องค์กร Business Russia กับ กลุ่มหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมไทย (4) ด้านการเงิน ธนาคารกสิกรไทยลงนามความร่วมมือการเปิดบัญชีเงินบาทของธนาคาร Southern Bank Russia ซึ่งเป็นการเปิดประตูสู่การทำธุรกรรมการเงินระหว่างนักธุรกิจทั้งสองฝ่าย และ (5) การลงนาม MOU ระหว่างสภาธุรกิจไทย รัสเซีย และ Russia Thai Trading House เป็นความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน เชื่อมโยงอำนวยความสะดวกระหว่างนักธุรกิจไทย และนักธุรกิจรัสเซีย
กระทรวงพาณิชย์ เชื่อมั่นว่าการเดินทางเยือนรัสเซียในครั้งนี้ ได้เกิดการเชื่อมโยงและกระชับความสัมพันธ์ในหลายระดับ ทั้งระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และเกิดมิติใหม่ของความร่วมมือ อย่างบูรณาการ นำไปสู่ผลประโยชน์ด้านเศรษฐจ การค้า และการลงทุน ของทั้งสองประเทศต่อไป
ข่าวเด่น