วันนี้ (23 พ.ค. 59) เวลา 14.35 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อรถไฟฟ้า 46 ขบวน (184 ตู้) เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารและส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสในอนาคตตามนโยบายรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร โดยมี พลเอกยอดยุทธ บุญญธิการ ประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) นายหวัง จวินเจิ้ง เลขาธิการของคณะกรรมการปกครองท้องถิ่นแห่งนครฉางชุน สาธารณรัฐประชาชนจีน ดร.โรลันด์ บุช กรรมการบริหารบริษัท ซีเมนส์ เอจี ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาซื้อรถไฟฟ้าระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)กับบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ชางชุน เรลเวย์ วีฮีเคิล จำกัด และระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ซีเมนส์ จำกัด ณ ห้องฉัตราบอลรูม โรงแรมสยามเคมปินสกี้กรุงเทพฯ ถ.พระราม 1 เขตปทุมวัน
สำหรับสัญญาซื้อขบวนรถไฟฟ้าแบ่งออกเป็นการซื้อจากบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ชางชุน เรลเวย์ วีฮีเคิล จำกัด จำนวน 24 ขบวน และจากบริษัท ซีเมนส์ จำกัด จำนวน 22 ขบวน มูลค่ารวมทั้งหมดประมาณ 11,000 ล้านบาท เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นทั้งในเส้นทางปัจจุบัน หมอชิต-แบริ่ง และสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า ระยะทางรวม 36.25 กิโลเมตร และในเส้นทาง ส่วนต่อขยายไปสมุทรปราการ ระยะทาง 13 กิโลเมตร และคูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการตามปกติสูงสุดถึงเกือบ 900,000 เที่ยวคนต่อวัน
ทั้งนี้ขบวนรถไฟฟ้าที่สั่งซื้อจากทั้งสองบริษัทจะใช้สเปคเดียวกันกับขบวนรถไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมเพื่อให้เข้ากันได้กับระบบต่างๆ ที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ โดยขบวนรถไฟฟ้าใหม่ของบริษัท ซีเมนส์ จำกัด จะมีการปรับรูปโฉมให้ดูทันสมัยมากขึ้นรวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกภายในขบวนรถให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในส่วนของขบวนรถไฟฟ้าจากบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ชางชุน เรลเวย์ วีฮีเคิล จำกัด จะมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ทันสมัยที่สุด แต่รูปลักษณ์โดยทั่วไปจะยังคงแบบเดียวกับของเดิมซึ่งยังคงทันสมัยเนื่องจากได้ใช้งานมาเป็นเวลาไม่มากนัก ทั้งนี้ ขบวนรถไฟฟ้าที่สั่งซื้อครั้งนี้ จะเริ่มทยอยส่งมอบประมาณต้นปี พ.ศ. 2561 และ จะส่งมอบแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2563
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครขอขอบคุณรัฐบาลและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยที่เล็งเห็นประโยชน์ของประชาชนในการที่จะได้รับความสะดวก ความปลอดภัย และความประหยัด จึงได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายไปสมุทรปราการและคูคต เพื่อให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบการเดินรถสายสีเขียวตลอดทั้งสองเส้นทางโดยมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างต่อเนื่องในเส้นทางเดียวกัน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถทดลองเดินรถในเส้นทางสมุทรปราการได้ 1 สถานีคือที่สถานีสำโรง ภายในเดือน ธ.ค. 59 นี้ และจะเปิดให้บริการได้ภายในต้นปี 2560 รวมทั้งจะทยอยเปิดให้บริการส่วนที่เหลือโดยเร็วที่สุดทั้งในเส้นทางสมุทรปราการและคูคต นอกจากนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้ให้ความเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครดำเนินการรถไฟฟ้าขนาดรองที่เป็นระบบเสริมของรถไฟฟ้าสายสีเขียวนี้ เช่น สายสีเทา สายสีทอง และรถไฟฟ้า LRT บางนาไปสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อให้การเดินทางของประชาชนมีความครอบคลุม ทั่วถึง สะดวกและสบายยิ่งขึ้นอีกด้วย
ข่าวเด่น