ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ศุลกากรจับกุมสินค้านำเข้าประเภทส้ม สำแดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จกว่า 4 ล้านบาท


 


วันนี้ ( 24 พฤษภาคม 2559) เวลา 11.00 น. ณ บริเวณลานจอดรถยนต์หน้าส่วนของกลาง สำนักสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงข่าวกรมศุลกากรจับกุมสินค้าที่มีการสำแดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จ เพื่อฉ้อฉลในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร สำหรับสินค้าเกษตรประเภท ส้ม รวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 4 ล้านบาท
 

ตามที่กรมศุลกากรได้มุ่งเน้นนโยบายสำคัญในการเร่งรัดปราบปรามสินค้าลักลอบ สินค้าหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกัด สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และสินค้าที่แสดงกำเนิดเป็นเท็จ เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการปกป้องสินค้าเกษตรภายในประเทศ ตามมาตรการ “ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง” เพื่อปราบปรามการนำเข้าสินค้าทางการเกษตรที่สำแดงราคานำเข้าต่ำ และมีลักษณะฉ้อฉลเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร นายกุลิศ  สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร จึงได้สั่งการให้ นายจำเริญ โพธิยอด รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ร่วมกับ นายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง โดยมอบหมายให้นายสุรพล สุกปลั่ง ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากร 1 นายวิศณุ วัชราวนิช ผู้อำนวยการส่วนควบคุมทางศุลกากร และนายอภิชาติ ใจงาม หัวหน้าฝ่ายสืบสวนและปราบปราม สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ดำเนินการวางแผนจับกุม
 
 

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2559 หน่วยงานศุลกากรที่ได้รับมอบหมายร่วมกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชแหลมฉบัง กรมวิชาการเกษตร ได้เข้าทำการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรทางท่าเรือแหลมฉบัง ตามใบขนสินค้าขาเข้า จำนวน 5 ฉบับ ตามลำดับ ดังนี้
 

รายที่ 1 (วันที่ 17 พฤษภาคม 2559) ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไนน์ เอ็นเตอร์ไพรส์ แอนด์ เทรดดิ้ง ได้นำสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข TEMU9339840 นำเข้าโดยเรือ KUO CHIA เที่ยววันที่ 16-05-2559 ชนิดสินค้า ส้ม บรรทุกมาจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ามาประเทศไทย ทางท่าเรือแหลมฉบัง จัดทำใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ A017 05905 02143 สำแดงสินค้าจำนวน 1 รายการ เป็น “ส้ม (FRESH MANDARIN)” ประเทศกำเนิด CHINA จำนวน 2,080 Cartons น้ำหนัก 20,800 กิโลกรัม ราคาสินค้า 486,912.07 บาท อัตราอากร 0% ใช้สิทธิการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน

 
ผลการตรวจสอบสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์พบสินค้าประเภท “ส้ม (FRESH MANDARIN)” ปริมาณและน้ำหนักตรงตามสำแดง ตรวจสอบรายละเอียดหีบห่อสินค้า (Standard Packing) ที่บรรจุเป็นกล่องกระดาษสีดำ ขนาดบรรจุ 10 กิโลกรัมต่อกล่อง หีบห่อสินค้าบริเวณแถวหน้าตู้คอนเทนเนอร์ข้างกล่องมีร่องรอยการดึงสติกเกอร์ออกและติดทับด้วยสติกเกอร์ระบุ Product of CHINA แทน และเมื่อทำการตรวจสอบแถวลึกเข้าไปพบหีบห่อสินค้าที่ติดสติกเกอร์ระบุ Origin ESPANA (ประเทศ สเปน) ทั้งหมด

รายที่ 2 (วันที่ 18 พฤษภาคม 2559) บริษัท วัชมนฟู้ด จำกัด ได้นำสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข MWMU6340560, หมายเลข MSWU1031614, หมายเลข MNBU0274134 และหมายเลข MSCU6231255 นำเข้าโดยเรือ BEETHOVEN เที่ยววันที่ 15-05-2559 ชนิดสินค้า ส้ม บรรทุกมาจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ามาประเทศไทยทางท่าเรือแหลมฉบัง จัดทำใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ A017 05905 06128, เลขที่ A017 05905 06111, เลขที่ A017 05905 06127 และเลขที่ A017 05905 06126 จำนวน 4 ใบขน โดยทั้ง 4 ฉบับสำแดงสินค้าจำนวน 1 รายการ เป็น “ส้ม (NAVEL ORANGE)” ประเทศกำเนิด CHINA จำนวน 1,600 Cartons น้ำหนัก 24,000 กิโลกรัม ราคาสินค้า 562,384.00 บาท อัตราอากร 0% ใช้สิทธิการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (Form E) เช่นเดียวกันทั้ง 4 ฉบับ

ผลการตรวจสอบสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 4 ตู้ พบสินค้าประเภท “ส้ม (NAVEL ORANGE)” ปริมาณและน้ำหนักตรงตามสำแดง ตรวจสอบรายละเอียดหีบห่อสินค้า (Standard Packing) ที่บรรจุเป็นกล่องกระดาษขนาดบรรจุ 15 กิโลกรัมต่อกล่อง ระบุยี่ห้อ “SOLEA” ข้างกล่องติดสติกเกอร์สีขาวระบุข้อความ “...Origin: Egypt…” ทั้งหมดทุกหีบห่อสินค้า รวมพบสินค้าที่สำแดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จรายบริษัท วัชมนฟู้ด จำกัด จำนวนทั้งสิ้น 6,400 Cartons น้ำหนักรวม 96,000 กิโลกรัม

ทั้งสองกรณีเป็นการสำแดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จ หลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อกำกัดและอากร ตามมาตรา ๙๙, ๒๗ แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ประกอบกับมาตรา ๑๖, ๑๗ แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ และสินค้าดังกล่าวเป็นของต้องห้ามในการนำเข้าตาม พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ. 2507 และเป็นการฉ้อฉลการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ภายใต้ FTA (อาเซียน-จีน) เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดของกลางทั้งหมด ส่งกรมศุลกากรดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

อนึ่ง มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้นกว่า 4 ล้านบาท

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 พ.ค. 2559 เวลา : 14:51:10

17-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 17, 2024, 5:29 pm