ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ขนส่งฯย้ำรถโดยสาร-รถลากจูง รถบรรทุก ที่จดทะเบียนใหม่ต้องติดตั้ง GPS


 


กรมการขนส่งทางบก มุ่งยกระดับความปลอดภัยทางถนนของประเทศ กำหนดให้รถโดยสารสาธารณะ รถลากจูง และรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ที่จดทะเบียนใหม่ทุกคัน ต้องติดตั้ง GPS ตั้งแต่มกราคม 2559 และเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับศูนย์บริหารจัดการเดินรถของกรมการขนส่งทางบก เพื่อติดตามและกำกับพฤติกรรมการขับรถให้มีความปลอดภัยสูงสุด พร้อมเปิดแอพพลิเคชั่น DLT GPS ให้ประชาชนและผู้ประกอบการขนส่งเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแบบ 360 องศา

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุรถโดยสารและรถบรรทุกพบว่าเกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถ และการบริหารจัดการของผู้ประกอบการขนส่ง เช่น ใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือปล่อยให้พนักงานขับรถเกินเวลาที่กำหนดในมาตรฐานความปลอดภัย ดังนั้นเพื่อเป็นการยกกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของระบบขนส่งสาธารณะอย่างยั่งยืน
 
 
กรมการขนส่งทางบกจึงได้จัดทำโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” ติดตามและควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถด้วยเทคโนโลยี GPS พร้อมติดตั้งระบบบ่งชี้ตัวตนพนักงานขับรถ โดยเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดเข้ากับศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบกแบบเรียลไทม์ เช่น ข้อมูลการใช้ความเร็ว ตำแหน่งพิกัดของรถ ชั่วโมงการขับขี่ และการใช้ใบอนุญาตขับรถที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการขนส่งสามารถติดตามพฤติกรรมผู้ขับรถ เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก 
 
 

อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารการขนส่งทางบกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในด้านการลดต้นทุนการขนส่ง การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การลดการใช้พลังงาน และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะ รถลากจูง และรถบรรทุกขนาดใหญ่ (10 ล้อขึ้นไป) ที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ วันที่ 25 มกราคม 2559 ต้องติดตั้ง GPS ที่มีคุณลักษณะและระบบการทำงานตามประกาศกรมฯ ทุกคัน สำหรับรถที่จดทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้ที่ติดตั้ง GPS ไว้แล้ว ต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการเดินรถของกรมการขนส่งทางบกภายในปี 2559 ส่วนรถที่จดทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้และยังไม่ได้ติดตั้ง GPS จะต้องดำเนินการติดตั้งให้ครบถ้วนตามกำหนด ซึ่งรถโดยสารสาธารณะจะติดตั้งครบทุกคันภายในปี 2560  สำหรับรถลากจูง และรถบรรทุกขนาดใหญ่ (10 ล้อขึ้นไป) จะติดตั้งครบทุกคันภายในปี 2562

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการขนส่งเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถแบบเรียลไทม์ กรมการขนส่งทางบกได้จัดทำแอพพลิเคชั่น “DLT GPS” เปิดให้ผู้ใช้บริการและประชาชนทั่วไปสามารถค้นหาตำแหน่งของรถในขณะนั้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยสามารถใช้งานได้ทั้งบนระบบปฏิบัติการ Android และ iOS เพียงระบุหมายเลขทะเบียนรถ ระบบจะแสดงตำแหน่งพิกัดของรถและความเร็วที่ใช้ พร้อมระบบร้องเรียน และช่องทางรับแจ้งเหตุ เช่น กรณีรถโดยสารเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะเป็นมิติสำคัญของการบริหารจัดการร่วมกันทุกภาคส่วนแบบ 360 องศา โดยแอพพลิเคชั่นจะรายงานเหตุการณ์พร้อมแสดงพิกัดของรถเข้าสู่ฐานข้อมูลของศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS ขณะนี้มีข้อมูลรถในระบบ GPS ทั้งสิ้น 57,471 คัน (ข้อมูลวันที่ 20 พฤษภาคม 2559) เป็นรถโดยสารประจำทาง 3,909 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง 4,168 รถบรรทุกไม่ประจำทาง 22,635 คัน รถบรรทุกส่วนบุคคล 14,393 คัน และรถอื่นๆ 11,366 คัน ซึ่งข้อมูลของรถจะปรากฏในระบบศูนย์ฯ ทันทีเมื่อมีการใช้รถ และทันทีที่เกิดการกระทำผิดเงื่อนไขการเดินรถและข้อกำหนดด้านความปลอดภัย

 อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า กรมการขนส่งทางบกได้ติดตามการทำงานของศูนย์บริหารจัดการเดินรถ       ด้วยระบบ GPS อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 ที่ผ่านมา (8 -16 เมษายน 2559) พบรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกใช้ความเร็วเกินอัตราที่กำหนดจำนวนทั้งสิ้น 2,190 คัน เป็นรถโดยสารประจำทาง จำนวน 990 คัน             รถโดยสารไม่ประจำทาง จำนวน 441 คัน รถบรรทุกไม่ประจำทาง จำนวน 104 คัน และรถบรรทุกทุกส่วนบุคคล จำนวน 49 คัน นอกนั้นเป็นรถอื่นๆ นอกจากนี้ ยังติดตามพฤติกรรมการขับขี่อย่างต่อเนื่องในช่วงวันหยุดวันฉัตรมงคลและวันพืชมงคลติดต่อกัน 5 วัน (4 – 7 พฤษภาคม 2559) รถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกใช้ความเร็วเกินอัตราที่กำหนดจำนวนทั้งสิ้น 499 คัน เป็นรถโดยสารประจำทาง จำนวน 260 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง จำนวน 137 คัน รถบรรทุกไม่ประจำทาง จำนวน 67 คัน และรถบรรทุกทุกส่วนบุคคล จำนวน 35 คัน
 
โดยศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS จะบันทึกประวัติผู้ขับรถทุกราย เพื่อติดตามพฤติกรรมการขับขี่หลังจากนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้จะประสานผู้ประกอบการขนส่งให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถทุกคนให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในเดินทางของประชาชน ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับจากความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนส่งและผู้ใช้บริการยังเป็นส่วนสำคัญในการติดตามรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถนำมาพิจารณาแนวทาง             การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนของประเทศอย่างยั่งยืน

 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 25 พ.ค. 2559 เวลา : 10:20:40

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:14 am