กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยืนยันอาคารโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งมีความพร้อมระบบป้องกันเพลิงไหม้ใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ชี้เหตุไฟไหม้หอพัก นักเรียนเสียชีวิต 17 จังหวัดเชียงราย สะท้อนถึงความเร่งด่วนในการสอนสุขบัญญัติแห่งชาติ ต้องสร้างทักษะชีวิตนักเรียนในเรื่องอุบัติเหตุ ให้เด็กเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เช่นแผ่นดินไหว น้ำท่วม โคลนถล่ม ไฟไหม้ เช่นเดียวกับเด็กญี่ปุ่น โดยแปลงเนื้อหาสุขบัญญัติให้ทันสมัย ในรูปของพฤติกรรม ป้องกันสูญเสียใช้ได้ตลอดชีวิต
จากกรณีที่เกิดเพลิงไหม้หอพักนักเรียนหญิงโรงเรียนพิทักษ์เกียรติวิทยา หมู่ 6 ต.เวียง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อคืนวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ทำให้นักเรียนเสียชีวิตมากถึง 17 ราย และบาดเจ็บสาหัส รักษาตัวที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ 2 ราย และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการทุกกระทรวง ทบวง กรมตรวจสอบมาตรฐานของหน่วยงานนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้ (25 พฤษภาคม 2559 )นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในส่วนอาคารบริการ หอผู้ป่วยต่างๆ ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง กองแบบแผนกรมสบส.ได้ออกแบบเป็นไปตามมาตรฐานอาคาร ติดตั้งระบบดับเพลิง สัญญาณเตือนภัยทุกอาคาร พร้อมทั้งระบบป้องกันอันตรายของสายไฟฟ้าต่างๆภายในอาคารด้วย ในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ได้ติดตั้งเครื่องดับเพลิงประจำทุกแห่ง มีการตรวจสอบความพร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง มีการเตรียมพร้อมในการซ้อมการรับมือขณะเกิดเพลิงไหม้ตามระยะเวลา และจัดทีมรับผิดชอบภายในหน่วยงานอยู่แล้ว จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัย
ทางด้านนายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสบส.กล่าวว่า เหตุการณ์สูญเสียของนักเรียนจากเพลิงไหม้อาคารหอพักในโรงเรียนครั้งนี้ สะท้อนให้ว่าเด็กไทยยังขาดความรู้และทักษะในการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน อุบัติเหตุ อุบัติภัย ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศ โดยกรมสบส.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชนในการดูแลสุขภาพ และผลักดันการปลูกฝังสุขบัญญัติแห่งชาติ เพื่อสอนเด็กนักเรียนวัยประถมศึกษาตอนต้นและตอนปลายทั่วประเทศ สร้างพฤติกรรมและสุขนิสัยต่างๆในการดูแลสุขภาพ ไม่ให้เจ็บป่วย ใช้มา กว่า 38 ปี ซึ่งมี 10 ประการ และเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ คือข้อที่ 7 ได้แก่ การป้องกันอุบัติภัยด้วยความไม่ประมาท จะต้องมีการแปลงเนื้อหาสุขบัญญัติแห่งชาติทั้ง 10 ประการ ให้ทันสมัย และแปลงออกมาในรูปของพฤติกรรม เพื่อทำให้เป็นทักษะที่เยาวชนในแต่ละพื้นที่จะต้องมี เพื่อการเอาตัวรอดได้อย่างปลอดภัย เช่นเดียวกับเด็กญี่ปุ่นที่มีทักษะในการหลบภัยเมื่อเกิดแผ่นดินไหว หรือสึนามิได้
นายแพทย์ภานุวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเทศไทยก็เช่นกัน การให้ความรู้แก่เด็กอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องฝึกทักษะให้เด็กทำเป็นด้วย ในเบื้องต้นนี้อาจคัดเลือกทักษะการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไป เช่น เพลิงไหม้ วาตภัย และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในพื้นที่ เช่น ในภาคเหนืออาจเป็นเรื่องของดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหว ภาคกลาง ภาคตะวันอออก ภาคใต้ เช่นน้ำท่วมฉับพลัน สึนามิ เป็นต้น การสอนให้เด็กสามารถช่วยคนหมดสติ เบื้องต้นได้จัดการเรียนการสอน และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยป้องกันสาธารณภัย รวมทั้งเพิ่มเวลารู้ในเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้นเพื่อป้องกันการสูญเสียให้ได้มากที่สุด และเด็กจะมีความรู้ติดตัวไปตลอดชีวิต สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้อีกด้วย
ข่าวเด่น