วันนี้ (25 พ.ค. 59) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) : เวลา 08.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าฝ่ายปกครอง และหัวหน้าฝ่ายการคลัง เพื่อเตรียมการจัดการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1/2559 ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส
ในพื้นที่กทม. มีผู้ยื่นลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตจังหวัดแล้ว 2,248 คน
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดให้วันที่ 7 ส.ค. 59 เป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. โดยในการออกเสียงครั้งนี้จะไม่มีการลงคะแนนออกเสียงล่วงหน้าและนอกราชอาณาจักร แต่กำหนดให้ลงคะแนนออกเสียงนอกเขตจังหวัดได้ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขอให้ผู้ที่อาศัยอยู่หรือมาทำงานและมีคุณสมบัติเบื้องต้น คือ มีสัญชาติไทย เกิดก่อนวันที่ 9 สิงหาคม 2541 มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงน้อยกว่า 90 วันนับถึงวันออกเสียง หากประสงค์จะขอใช้สิทธิลงคะแนนออกเสียงในจังหวัดที่ตนอาศัยอยู่ให้ยื่นคำขอลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด ดังนี้ 1. ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงยื่นคำขอด้วยตนเอง หรือทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทน ณ สำนักงานเขตที่ตนอาศัยอยู่ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 7 ก.ค. 59 ในวัน เวลาราชการ 2. ยื่นเป็นคณะบุคคลโดยมอบหมายให้ผู้มีสิทธิออกเสียงคนใดคนหนึ่งเป็นผู้แทนในการยื่นคำขอลงทะเบียน 3. ยื่นคำขอทางไปรษณีย์ไปยังผู้อำนวยการเขตที่ตนอาศัยอยู่ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 30 มิ.ย. 59 โดยถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ 4. ยื่นคำขอลงทะเบียนได้ทางเว็บไซต์ http://election.dopa.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 30 มิ.ย. 59 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบจะปิดอัตโนมัติในวันที่ 30 มิ.ย. 59 เวลา 24.00 น. โดยตั้งแต่วันที่ 1-23 พ.ค. 59 มีผู้มายื่นขอลงทะเบียนออกเสียงนอกเขตจังหวัด ณ 50 สำนักงานเขต แล้วจำนวน 2,248 คน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตดอนเมือง ราชเทวี และประเวศ ตามลำดับ
ตั้งหน่วยออกเสียงบ้านบางแค 1 และ 2 สำหรับคนพิการ ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ เป็นกรณีพิเศษ
ในการออกเสียงประชามติครั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) ได้กำหนดหน่วยออกเสียงประชามติสำหรับผู้พิการ ทุพพลภาพและผู้สูงอายุ เป็นกรณีพิเศษ ณ บ้านบางแค 1 เขตภาษีเจริญ และบ้านบางแค 2 เขตบางแค โดยผู้พิการ ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุที่ประสงค์ใช้สิทธิออกเสียง ณ สถานที่ดังกล่าว สามารถยื่นคำขอลงทะเบียนผ่านทางองค์กร สมาคมที่เกี่ยวกับคนพิการ ทุพพลภาพและผู้สูงอายุได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 7 มิ.ย.59 จากนั้นจะเปิดให้ยื่นคำขอลงทะเบียนเป็นรายบุคคลต่อไป
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้กำชับให้ทุกเขตให้ความสำคัญกับการออกเสียงประชามติเหมือนดังเช่นการเลือกตั้งทั่วไป หน้าที่ที่สำคัญ คือ การวางตัวเป็นกลางและให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ ทั้งขั้นตอนวิธีการออกเสียง และการลงทะเบียนออกเสียงนอกเขตซึ่งกำหนดเปิดรับลงทะเบียนถึงวันที่ 7 ก.ค. นี้ ทั้งนี้มั่นใจในความสามารถของบุคลากรของกรุงเทพมหานครที่จะสามารถจัดการออกเสียงได้อย่างเรียบร้อย และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจและออกมาใช้สิทธิให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้สำนักงานปกครองและทะเบียน กทม. จะได้จัดทำแผนดำเนินการและสนับสนุนการออกเสียงประชามติ มอบให้แก่ 50 สำนักงานเขต เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ประสานงานการออกเสียงประชามติกรุงเทพมหานคร ณ สำนักงานปกครองและทะเบียน ชั้น 5 ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) ต่อไป
ข่าวเด่น