นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของกรมชลประทานมอบนโยบายให้เร่งรัดดำเนินโครงการตามแผนบริหารจัดการน้ำที่เร่งด่วน ให้ประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอันดับแรก-กำหนดพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมสอดคล้องกับแผนบริหารจัดการน้ำ พร้อมแนะให้ใช้ข้อมูลทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้อย่างบูรณาการ โดยให้ดูความต้องการของประชาชนเป็นหลัก
วันนี้ (25 พฤษภาคม 2559) เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม อาคารศูนย์สารสนเทศ สำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนครราชสีมา และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของกรมชลประทานตามนโยบายของรัฐบาลจากกรมชลประทาน
สรุปผลการดำเนินงานของกรมชลประทานในภาพรวมการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา มีดังนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทั้งหมดของโครงการ 89,720 ไร่ ตัวเขื่อนมีความจุประมาณ 105 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี พ.ศ. 2553 และปี พ.ศ. 2556 เกิดอุทกภัยจากปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก ทำให้มีน้ำส่วนเกินไหลผ่านอาคารระบายน้ำล้นเข้าสู่พื้นที่อำเภอปักธงชัย และอำเภอโชคชัย ท่วมพื้นที่การเกษตร และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน
กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล จำนวน 541 ล้านบาท ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังนี้ 1.เพิ่มประสิทธิภาพการกับเก็บน้ำ และการระบายน้ำเขื่อนลำพระเพลิง โดยทำการยกระดับสันเขื่อนจากเดิมเพิ่มขึ้นอีก 4 เมตร ทำให้เพิ่มความจุน้ำเป็น 155 ล้านลูกบาศก์เมตร 2.เพิ่มความมั่นคงของตัวเขื่อน โดยเพิ่มความความกว้างทำนบดิน จากเดิม 8 เมตร เป็น 12 เมตร พร้อมปรับปรุงฐานรากของตัวเขื่อนให้มีความแข็งแรง 3.ปรับปรุงคลองผันน้ำฝั่งซ้ายเขื่อนลำพระเพลิงระยะทาง 6.5 เมตรเพื่อทำการผันน้ำจากเขื่อนลำพระเพลิงไปยังอ่างเก็บน้ำลำสำลาย และ 4.ปรับปรุงระบบการผันน้ำโดยขุดลอกอ่างเก็บน้ำลำสำลายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บน้ำ จากเดิมเป็น 42.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ และยังเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่อีกจำนวน 18,000 ไร่ นอกจากนั้น ยังสามารถกักเก็บน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนในการอุปโภค และบริโภคของประชาชนในอำเภอปักธงชัย อำเภอโชคชัย และอำเภอเมือง
จากนั้น นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวขอรับการสนับสนุนงบประมาณพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง เพื่อใช้เป็นแหล่งกับเก็บน้ำและชะลอน้ำหลากในช่วงฤดูฝน และเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตรกรรมของราษฎร ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งของประชาชนในพื้นที่เขตอำเภอเทพารักษ์ อำเภอด่านขุนทด อำเภอโนนไทย อำเภอโนนสูง และอำเภอเมืองนครราชสีมา โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการ ดังนี้ 1. โครงการยกระดับการกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรเพิ่มขึ้นอีก 1 เมตร เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร จำนวนงบประมาณ 310,000,000 บาท 2. โครงการสร้างบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งลำเชียง เพื่อสร้างอาคารระบาย จำนวน 56 แห่ง งบประมาณ 995,000,000 บาทและโครงการขุดลอกลำเชียงไกรระยะทาง 122 กิโลเมตร งบประมาณ 260,000,000 บาท
ภายหลังรับฟังบรรยายสรุป นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า การดำเนินแผนการบริหารจัดการน้ำขอให้เร่งรัดดำเนินโครงการที่เร่งด่วน เกิดผลกระทบ และให้ประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอันดับแรก พร้อมกับกำหนดพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสมโดยให้จำแนกว่าพื้นที่ไหนควรเพาะปลูกพืชชนิดไหน พื้นที่ไหนควรจะแปรรูปให้สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการน้ำ พร้อมกับแนะนำให้ใช้ข้อมูลทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้อย่างบูรณาการ ทั้งนี้ ให้ดูความต้องการของประชาชนเป็นหลัก เพื่อเป้าหมายที่จะทำให้ประชาชนมีความสุข มีความมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน
สำหรับเรื่องงบประมาณที่ทางกรมชลประทานขอรับการสนับสนุนนั้น นายกรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่ขอ แต่ต้องการให้ไปปรับแผนการดำเนินงาน เน้นย้ำให้ดำเนินโครงการที่ให้ผลชัดเจนภายในปี 2560 สามารถตอบสนองความต้องการ แก้ไขปัญหาของประชาชนได้ให้เร่งดำเนินการก่อน และให้ปรับระยะเวลาการดำเนินการให้สั้นลง พร้อมกับให้คำนึงถึงระบบน้ำเพื่อใช้อุปโภค บริโภค เพื่อการเกษตร และเพื่อรักษาระบบนิเวศประกอบด้วย
ข่าวเด่น