รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง อะไรคือปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างรัฐกับประชาชน :กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,076 ตัวอย่างจากจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ระหว่างวันที่ 16-25 พฤษภาคม 2559 ผลการสำรวจ พบว่า
เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนถึงการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าตัวอย่างร้อยละ 53.3 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 31.1 ระบุติดตาม 3-4 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 10.8 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 4.2 ระบุติดตามเป็นบางวัน และร้อยละ 0.6 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยได้สอบถามตัวอย่างแกนนำชุมชนกรณีความรู้ความเข้าใจของประชาชนต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาและการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและ คสช. ซึ่งพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 86.7 ระบุคิดว่าประชาชนเข้าใจแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 13.3 ระบุคิดว่ายังไม่เข้าใจ โดยให้เหตุผลสามารถสรุปได้ว่า เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่มักจะติดตามเฉพาะข่าวทั่วไป ไม่ได้ตามเรื่องรายละเอียด/รัฐบาลมักจะเข้าไม่ถึงประชาชนที่อยู่ในระดับพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนจริงๆ /ประชาชนอาจจะยังยึดติดกับนโยบายประชานิยมเดิม จึงไม่เปิดใจรับนโยบายใหม่ /ประชาชนมักจะมองที่ผลกระทบ/ผลที่เกิดขึ้นกับตนเองมากกว่าจะมองถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง
อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามต่อไปถึงสาเหตุต่างๆที่อาจทำให้ประชาชนยังไม่เข้าใจ/ไม่ยอมรับ และไม่เชื่อใจในแนวทางการแก้ไขปัญหาและการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและ คสช.นั้นพบว่า ร้อยละ 68.1 ระบุอาจเป็นเพราะประชาชนไม่มีความรู้/ขาดความรู้ความเข้าใจ/ขาดข้อมูล ร้อยละ 66.3 อาจเป็นเพราะแนวทางของรัฐบาลเห็นผลช้าอาจจะไม่ทันใจประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ร้อยละ 61.8 ระบุประชาชนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอจากรัฐบาล และคสช. ร้อยละ 61.5 ระบุการยึดถือแนวทางปฏิบัติเดิมๆที่ปฏิบัติกันมานาน/ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 55.8 ระบุ ประชาชนเคยชินกับการได้รับความช่วยเหลือมากกว่าที่จะต้องลงมือทำเอง ร้อยละ 55.7 แนวทางของรัฐบาลแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด/ช่วยเหลือประชาชนไม่ได้ ร้อยละ 55.3 ระบุไม่มีผู้นำในการปฏิบัติ/ไม่มีคนชี้แนะ/ไม่มีที่ปรึกษา ร้อยละ 54.3 ระบุการสร้างความเข้าใจที่ผิดๆจากกลุ่มการเมือง/กลุ่มอำนาจเก่า ร้อยละ 52.7 ไม่มีตัวอย่าง/ไม่มีแบบอย่างความสำเร็จให้เห็นชัดเจน ในขณะที่ร้อยละ 44.5 ระบุความไม่มั่นใจในรัฐบาลและ คสช. (พิจารณารายละเอียดในตารางที่ 3)
นอกจากนี้เมื่อสอบถามความคิดเห็นกรณีในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและการดำเนินการตามนโยบายนั้น “คิดว่าอะไรเป็นปัญหามากกว่ากันระหว่างยึดถือแนวคิดแนวปฏิบัติเดิมไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของประชาชน กับ ความพยายามที่ยังไม่มากพอของรัฐบาลในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้กับประชาชน” ซึ่งผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 39.6 ระบุคิดว่าการที่ประชาชนยึดถือแนวคิดแนวปฏิบัติเดิมและไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เป็นปัญหามากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 39.9 กลับเห็นว่า ความพยายามที่ไม่มากพอของรัฐบาลในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเป็นปัญหามากกว่า และร้อยละ 20.5 ระบุทั้งสองอย่างเป็นปัญหาพอๆกัน
เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า “แนวทางการแก้ไขปัญหาและการดำเนินงานตามนโยบายที่รัฐบาล และคสช.กำลังทำอยู่ ถึงแม้จะเห็นผลช้าบ้าง แต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว” นั้นพบว่า ตัวอย่างมากกว่า 2 ใน 3 หรือร้อยละ 77.7 ระบุเชื่อมั่นว่าเป็นเช่นนั้น โดยให้เหตุผลที่เชื่อมั่น สามารถสรุปได้ว่าเป็นเพราะเห็นความคืบหน้าในผลงานที่ผ่านมาแล้ว เชื่อมั่นในความตั้งใจจริงของนายกรัฐมนตรี /รัฐบาล มีการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นขั้นตอนมีระบบ รวมถึงพื้นฐานของปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้นอยู่แล้ว ต้องใช้เวลาในการแก้ไขอีกนาน
อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างแกนนำชุมชน ร้อยละ 6.6 ระบุว่าไม่เชื่อมั่น โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะยังมีการทุจริตคอรัปชั่นอยู่มาก ในขณะที่บางส่วนเห็นว่าพอเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เปลี่ยนนโยบายใหม่ก็จะเหมือนเดิม พอเลือกตั้งใหม่ การทำงานก็จะไม่ต่อเนื่อง และความล่าช้าอาจจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินงานตามนโยบาย รวมถึงประชาชนยังไม่มีส่วนร่วมในการทำงานของรัฐบาลมากนัก และพบว่าร้อยละ 15.7 ระบุยังไม่แน่ใจ
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามความคิดเห็นกรณี “คิดว่าประชาชนจดจ่อรอคอยอะไรมากกว่ากัน ระหว่าง ความสำเร็จตามแนวนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน กับการรอคอยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาช่วยแก้ปัญหาให้” ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างมีความเห็นที่ก้ำกึ่งกัน โดยร้อยละ 40.5 ระบุคิดว่าประชาชนรอคอยความสำเร็จตามแนวนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 40.1 ระบุคิดว่าประชาชนรอคอยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาช่วยแก้ปัญหาให้ มากกว่า และร้อยละ 19.4 ระบุไม่แน่ใจ
ประเด็นสำคัญสุดท้ายคือ คณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างเกี่ยวกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ ให้กับประชาชน ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 6.7 ระบุคิดว่านายกรัฐมนตรีพูดน้อยเกินไป ในขณะที่ร้อยละ 16.2 ระบุนายกรัฐมนตรีพูดมากเกินไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 77.1 ระบุเห็นว่าพอดีแล้ว ไม่มากไม่น้อยเกินไป
ข่าวเด่น