ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมประมงเตรียมประกาศปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ครอบคลุม 8 จังหวัด ตั้งแต่ 1 มิ.ย.-31ก.ค.


 

กรมประมง เตรียมประกาศปิดอ่าวไทยตอนใน หรือ อ่าวไทยรูปตัว ก ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี  รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 4,940.55 ตารางกิโลเมตร มีระยะเวลาปิดอ่าวตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม ของทุกปี โดยประกาศดังกล่าว มีผลบังคับใช้ปีนี้เป็นปีสุดท้าย ซึ่งต่อจากนี้จะนำผลศึกษาทางวิชาการทั้งข้อดีข้อเสียทั้งในเรื่องของทรัพยากร เศรษฐกิจ และสังคม มาวิเคราะห์เพื่อวางแนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำอ่าวตัว ก. โดยเมื่อปีที่ผ่านมาชาวประมงสามารถจับปลาทูได้มากขึ้นและใหญ่กว่าเดิม ที่สำคัญ  


 
นายอดิศร  พร้อมเทพ  อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในอดีตอ่าวไทยตอนใน หรือ อ่าวไทยรูปตัว ก เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรประมงอุดมสมบูรณ์มาก เนื่องจากมีแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และเพชรบุรี ไหลลงสู่อ่าวไทยรูปตัว ก โดยแม่น้ำเหล่านี้จะพัดพาสารอาหารลงสู่อ่าวไทย อีกทั้งบริเวณอ่าวไทยรูปตัวก ยังมีป่าชายเลนที่เป็นแหล่งวางไข่ และแหล่งเลี้ยงตัวในวัยอ่อนของสัตว์น้ำหลายชนิด โดยเฉพาะปลาทู       ซึ่งเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีคุณค่าและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ
 
 
 
แต่ปัจจุบันนี้ กลับพบว่าในบริเวณดังกล่าว มีการทำประมงกันอย่างหนาแน่น เครื่องมือประมงที่ใช้มีหลายประเภท ทั้งเครื่องมือประมงขนาดใหญ่และเครื่องมือประมงพื้นบ้าน อีกทั้ง มีการพัฒนาและดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงบางประเภทให้มีประสิทธิภาพในการจับพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ และสัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมาก จนธรรมชาติไม่สามารถทดแทนได้ทัน (overfishing)  ส่งผลให้ประชากรสัตว์น้ำลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มชาวประมงในพื้นที่มีความห่วงใย  ในสภาวะความเสื่อมโทรมของทรัพยากรจึงได้นำเสนอแนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก เสนอต่อกรมประมง เพื่อให้รวบรวมข้อมูลข้อสรุปทางวิชาการทั้งด้านชีววิทยาของสัตว์น้ำ แนวทางการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนและการออกมาตรการปิดอ่าวตัว กเพื่อแก้ไขปัญหา และป้องกันมิให้พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ และสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับมากเกินควร และเพื่อให้สัตว์น้ำมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนถาวรตลอดไป  ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาวิจัยของกรมประมง พบว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน  พบปลาทูมีความยาว เฉลี่ย 12.8 เซนติเมตร  ซึ่งเป็นปลาทูขนาดเล็ก ไม่สามารถวางไข่ได้ หากปล่อยปลาทูเจริญเติบโตต่อไปอีก 2 เดือน จะมีความยาว เฉลี่ย 15.8 เซนติเมตร หรือเรียกว่าปลาทูสาว สามารถวางไข่ได้ และจากการประมาณมูลค่าปลาทูในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก ก่อนที่จะมีการปิดอ่าว พบมีมูลค่า 93.6 ล้านบาท หากมีการปิดอ่าว 2 เดือน มูลค่าปลาทูจะเพิ่มขึ้นเป็น 391.9 ล้านบาท สัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลังจากเปิดอ่าว

 

            ดังนั้น เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2556 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32(1) (2) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 ออกประกาศกระทรวงฯ เรื่อง    ห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิด ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม

สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ในระยะเวลาที่กำหนด ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน -              31 กรกฎาคม ของทุกปี โดยมีผลบังคับใช้ 3 ปี  (พ.ศ.2557 – 2559) รวมทั้ง รายละเอียดการบังคับใช้ตาม  พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ดังนี้

สำหรับเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่
(1) เครื่องมืออวนล้อมจับที่ใช้ประกอบกับเรือกล
(2) เครื่องมืออวนลากที่ใช้ประกอบกับเรือกล
(3) เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อนหรืออวนยก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำการประมงปลากะตัก
(4) เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบเรือกล ล้อมติดปลาทู
(5) เครื่องมืออวนติดตาปลาทูที่ใช้ประกอบกับเรือกล

 ส่วนเครื่องมือทำการประมงที่ยกเว้นตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่
(1) เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ ที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียวความยาวเรือไม่เกิน 14 เมตร ทำการประมงได้เฉพาะในเวลากลางคืน (เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น)
(2) เครื่องมืออวนติดตาปลาทู ที่มีขนาดช่องตาไม่ต่ำกว่า 3.8 เซนติเมตร ความยาวอวนไม่เกิน 2,000 เมตร ที่ใช้กับเรือกลความยาวเรือไม่เกิน 10 เมตร

(3) เครื่องมืออื่นๆ ที่ไม่ระบุห้ามตามประกาศนี้และประกาศอื่นๆ รวมทั้งการทำประมงเพื่อการศึกษา วิจัย หรือทดลองทางวิชาการซึ่งกระทำโดยทางราชการและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง

**ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนมาตรการปิดอ่าว ตัว ก. จะมีความผิดทั้งทางอาญาและตามมาตรการทางปกครอง ตาม พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงหวังว่าการประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวตัว ก จะส่งผลให้สัตว์น้ำขนาดเล็กสามารถเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ ส่งผลให้มีมูลค่ากลับคืนสู่ชาวประมงเพิ่มขึ้น ดังยืนยันได้จากข้อมูลการสำรวจการจับปลาทูในช่วงก่อนและหลังมาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก เมื่อปีที่แล้ว ว่าขนาดปลาทูก่อนปิดอ่าว ตัว ก. เป็นปลาทูไซส์เล็กถึงร้อยละ 16 และหลังมาตรการ พบจำนวนปลาทูไซส์เล็กลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2.7 ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวตัว ก ในการปกป้องสัตว์น้ำขนาดเล็กและสัตว์น้ำวัยอ่อนที่อพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่ให้เติบโตจนมีขนาดใหญ่ขึ้น  ประกอบกับพบว่าชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปลาทูได้เพิ่มจากก่อนมาตรการ 130 กิโลกรัม/วัน และหลังมาตรการจับได้ 205.5 กิโลกรัม/วัน อีกทั้ง ขนาดที่จับได้ก็ใหญ่กว่าขนาดแรกเริ่มสืบพันธุ์มากกว่า 80 %  อีกทั้ง ยังพบว่าสัตว์น้ำอื่นๆ อาทิ ปลาเห็ดโคน ปูม้า ที่ชาวประมงจับได้ในรอบ 2 เดือนหลังจากมาตรการปิดอ่าวตัว ก มีขนาดใหญ่และมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาก และที่น่าสนใจ คือ จากการสำรวจด้วยเรือสำรวจประมง 2.. ก่อนมาตรการ ในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน ไม่พบ กุ้งแชบ๊วย และ กุ้งโอคัก แต่พอหลังจากปิดอ่าวตัว ก ไปแล้ว พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงถึง 2 – 4 เท่า

จึงแสดงให้เห็นว่ามาตรการปิดอ่าวตัว ก สามารถช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างมากและก่อให้เกิดความยั่งยืน และในปีนี้ กรมประมง ได้กำหนดจัดพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำวัยอ่อนพื้นที่อ่าวไทยตอนใน (อ่าวรูปตัว ก) ประจำปี 2559 ในวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2559 ณ ท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลา ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ  ดังนั้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวประมง ร่วมกิจกรรมงานในครั้งนี้ และขอความร่วมมือจากพี่น้องชาวประมงทุกท่านโปรดปฏิบัติตามกฎระเบียบ และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ มิใช่เพื่อประโยชน์ของคนหนึ่งคนใด แต่เป็นประโยชน์ของพวกเราและลูกหลานของเราทุกคนที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืนตลอดไป




 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 พ.ค. 2559 เวลา : 13:28:09

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:37 am