ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สศก.ตามติดโครงการตลาดเกษตรกรเผยมูลค่าจำหน่าย57,800 บาท/ครั้ง/สัปดาห์


 


 
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามโครงการตลาดเกษตรกร เผยมูลค่าการจำหน่ายสินค้าในแต่ละครั้งเฉลี่ย 57,800  บาท/ครั้ง/สัปดาห์ หรือ ประมาณ 3 ล้านบาท/ปี โดยร้อยละ 81 เป็นสินค้าที่มีคุณภาพปลอดภัย ย้ำ มีการสุ่มตรวจสอบสารพิษตกค้างเฉลี่ย 1 ครั้งต่อเดือน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค  
 

นางสาวจริยา สุทธิไชยา  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามการดำเนินงานโครงการตลาดเกษตรกร ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้สโลแกน เกษตรกรจริงๆ ทุกสิ่งปลอดภัย เพื่อจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรเป็นผู้จัดจำหน่ายโดยตรง ซึ่งการติดตามประเมินผลครั้งนี้ สศก. ได้ลงพื้นที่สอบถามในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคมที่ผ่านมา รวม 25 จังหวัด พบว่า
 
 

ตลาดเกษตรกรมีมูลค่าการจำหน่ายสินค้าในแต่ละครั้ง เฉลี่ย 57,800  บาท/ครั้ง/สัปดาห์ หรือประมาณ 3 ล้านบาท/ปี  โดยมูลค่าการจำหน่ายมีค่าต่ำสุด ถึง สูงสุดอยู่ที่  20,000 – 140,000 บาท  สินค้าที่นำมาจำหน่ายมีคุณภาพและเป็นสินค้าปลอดภัย คิดเป็นร้อยละ 81 ส่วนที่เหลือร้อยละ  19  บางส่วนอยู่ระหว่างการขอการรับรองมาตรฐาน และบางส่วนเป็นเกษตรกรที่มีข้อจำกัดไม่สามารถเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานได้แต่เป็นสินค้าปลอดภัยที่คณะกรรมการตลาดรับรองและอนุญาตให้เข้ามาจำหน่ายในตลาดได้  โดยแต่ละตลาดยังมีการสุ่มตรวจสอบสารพิษตกค้างเฉลี่ย 1 ครั้งต่อเดือน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค  

นอกจากนี้ พบว่า สินค้าที่นำมาจำหน่ายเริ่มเป็นสินค้าใหม่มากขึ้น และมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ หรือเป็นสินค้าที่มีคุณลักษณะเฉพาะถิ่น และจากนโยบายที่ต้องการให้มีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม (Corporate Social  Responsibility : CSR )  ขณะนี้ มีตลาดที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐวิสาหกิจ เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน และ อื่นๆ แล้วคิดเป็นร้อยละ 57 โดยมีการสนับสนุนจำพวกเต็นท์ ถุงพลาสติก และป้ายประชาสัมพันธ์  เป็นต้น

สำหรับข้อเสนอแนะที่ค้นพบ คือ ควรพัฒนารูปแบบการบรรจุภัณฑ์เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากยิ่งขึ้น   และ ควรพัฒนาสถานที่ให้เป็นตลาดถาวร เนื่องจากสถานที่จัดตลาดเกษตรกร บางแห่งพื้นที่จัดไม่เหมาะสม เช่น จัดในสวนสาธารณะ  ถนน หรือลานจอดรถ ทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาให้ยั่งยืน  โดยควรมีการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อการพัฒนาในแต่ละด้าน  เช่น การอบรมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบสารตกค้าง เป็นต้น ทั้งนี้ สศก. จะยังคงติดตามการดำเนินโครงการเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามการดำเนินงานอีกระยะ รวมกว่า 20 จังหวัด ซึ่งจะมีการรายงานภาพรวมโครงการให้ทราบในระยะต่อไป
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 พ.ค. 2559 เวลา : 15:13:06

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:10 am