นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงต้นฤดูฝนแล้ว หลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกกระจาย แต่ส่วนใหญ่ฝนไม่ได้ตกในพื้นที่เหนือเขื่อน ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อย จึงไม่สามารถ เพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนได้ ขณะนี้เขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางมีปริมาณน้ำรวมคิดเป็นร้อยละ 17 – 18 ของความจุอ่างฯ ส่งผลให้หลายพื้นที่ยังคงมีสถานการณ์ภัยแล้ง
โดยปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 36 จังหวัด 226 อำเภอ 1,167 ตำบล 9,394 หมู่บ้าน แยกเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค 12 จังหวัด ได้แก่ น่าน พิจิตร ลำพูน ตาก สุรินทร์ ชัยนาท สระบุรี ชลบุรี ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ พังงา และชุมพร จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี และจันทบุรี และจังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 17 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ นครราชสีมา เพชรบุรี ตราด สตูล กระบี่ นครศรีธรรมราช หนองบัวลำภู สุพรรณบุรี สระแก้ว ขอนแก่น ปราจีนบุรี ลำปาง อุทัยธานี กำแพงเพชร และราชบุรี
ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งมีประสิทธิภาพ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้บูรณาการหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง สำหรับการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย ปภ. ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยทหารแจกจ่ายน้ำแก่ผู้ประสบภัยแล้ง โดยสูบน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ เข้าพื้นที่การเกษตร 46,492,629 ลูกบาศก์เมตร สูบน้ำดิบเข้าระบบการผลิตน้ำประปา 6,511,992,000 ลิตร แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคกว่า 260,862,284 ลิตร ผลิตน้ำดื่มแจกจ่ายกว่า 1,104,000 ลิตร
จากการติดตามสภาพอากาศในช่วงฤดูฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า มีแนวโน้มเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในระหว่างปลายเดือนมิถุนายน– กรกฎาคมจึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด สำรองน้ำฝนและกักเก็บน้ำไว้อุปโภคบริโภค ส่วนเกษตรกรให้วางแผนการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ รวมถึงเลื่อนการทำนาปีออกไปจนกว่าจะมีฝนตกตามฤดูกาลปกติ
ข่าวเด่น