กรมการขนส่งทางบก แจงเฉพาะเดือนเมษายน 2559 จัดเก็บภาษีรถยนต์ในเขตกรุงเทพมหานครได้กว่า 749 ล้านบาท เป็นการชำระผ่านสำนักงานของกรมการขนส่งทางบกสูงสุดกว่า 560 ล้านบาท เผย!! ประชาชนนิยมใช้บริการชำระภาษีรถผ่านเว็บไซต์ www.dlte-serv.in.th และผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกได้ขยายช่องทางการรับชำระภาษีรถให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ซึ่งปรากฏว่าเฉพาะเดือนเมษายน 2559 สามารถจัดเก็บภาษีรถประจำปีในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ทั้งสิ้น 749,025,238.46 บาท เป็นการใช้บริการรับชำระภาษีรถยนต์ ณ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 5 มากที่สุด จำนวน 445,024 ราย จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 560,266,300.88 บาท
รองลงมาเป็นการใช้บริการรับชำระภาษีรถผ่านช่องทาง “เลื่อนล้อ ต่อภาษี” (Drive Thru for Tax) ชำระภาษีโดยไม่ต้องลงจากรถ จำนวน 56,557 ราย จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 102,218,619.97 บาท และเป็นการใช้บริการรับชำระภาษีรถที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ในวันเสาร์ – อาทิตย์ ทั้ง 14 สาขา ได้แก่ สาขาลาดพร้าว รามอินทรา รัชดาภิเษก บางปะกอก เพชรเกษม อ่อนนุช สุขาภิบาล 3 บางบอน สุวินทวงศ์ แจ้งวัฒนะ บางใหญ่ สำโรง ศรีนครินทร์ และบางนา ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลรามอินทรา และเซ็นทรัลลาดพร้าว รวมทั้งศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค ตามโครงการ “ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี” มีประชาชนมาใช้บริการจำนวน 39,423 ราย จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 58,529,896.91 บาท
ส่วนที่ศูนย์บริการร่วมคมนาคมเชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ให้บริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 15.00 น. มีผู้มาใช้บริการ จำนวน 5,609 ราย จัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 7,259,153.99 บาท ขณะที่การชำระภาษีรถผ่านเว็บไซต์ www.dlte-serv.in.th มียอดผู้ใช้บริการจำนวน 4,424 ราย จัดเก็บภาษี ได้ทั้งสิ้น 10,075,697.11 บาท นอกจากนี้กรมการขนส่งทางบกยังได้เปิดให้บริการรับชำระภาษีรถผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสทุกสาขาทั่วประเทศ มียอดผู้ใช้บริการ 8,350 คน สามารถจัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 9,154,408 บาท
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า การชำระภาษีรถประจำปีนั้น เจ้าของรถสามารถชำระภาษีรถล่วงหน้าก่อนครบกำหนด 90 วัน ถ้าค้างชำระภาษีรถเกินกว่า 1 ปี ต้องผ่านการตรวจสภาพรถก่อนเสียภาษีรถประจำปี สำหรับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป หรือรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ต้องมีใบรับรองการตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) มาแสดงด้วย โดยจะมีสมุดคู่มือจดทะเบียนรถหรือไม่ก็ได้ รวมถึงรถที่ติดตั้งแก็สต้องมีหนังสือรับรองการตรวจสอบ และทดสอบตามระยะเวลาที่กำหนดด้วย รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด
ข่าวเด่น