สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL)สำรวจเรื่อง สำรวจเงินในกระเป๋าของประชาชน ในยุครัฐบาลบิ๊กตู่ ใครสุขมากกว่ากันจากกรณีศึกษาตัวอย่าง มนุษย์เงินเดือนใน 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา มุกดาหาร ขอนแก่น อุดรธานี ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส จำนวนทั้งสิ้น 5,950 ตัวอย่าง
ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจเรื่อง สำรวจเงินในกระเป๋าของประชาชน ในยุครัฐบาลบิ๊กตู่ ใครสุขมากกว่ากัน พบว่า เมื่อประชาชนนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเองในยุครัฐบาล บิ๊กตู่ เปรียบเทียบกับ เงินในกระเป๋าของตัวเองช่วงที่การเมืองขัดแย้งรุนแรงบานปลายในอดีต ประชาชนส่วนมากหรือร้อยละ 47.3 มีความสุขมากเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเองวันนี้ เปรียบเทียบกับช่วงการเมืองขัดแย้งกันในอดีต เพราะช่วงเวลานั้นการทำมาหากินหยุดชะงักในหลายพื้นที่ ถูกลิดรอนสิทธิในการเดินทางโดยกลุ่มคนที่ขัดแย้งกันทางการเมือง ตัวเองและญาติพี่น้องที่ทำงานกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ทำมาหากินด้วยความยากลำบาก ในขณะที่ร้อยละ 31.1 สุขปานกลาง และร้อยละ 21.6 สุขน้อยเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเองวันนี้
เมื่อแบ่งออกตามเพศ พบว่า ผู้หญิงมีความสุขมากกว่า ผู้ชาย โดยร้อยละ 47.8 ของหญิง และร้อยละ 40.8 ของชายมีความสุขมากเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเอง และเมื่อแบ่งตามวัยของคนตอบแบบสอบถาม พบว่า มนุษย์เงินเดือนกลุ่มเยาวชนมีความสุขมากมากกว่ากลุ่มวัยอื่น คือร้อยละ 52.5 ของกลุ่มเยาวชน ร้อยละ 46.2 ของกลุ่มวัยผู้ใหญ่ และร้อยละ 41.5 ของกลุ่มผู้สูงวัย จึงสรุปได้ว่า น่าเป็นห่วงที่ คนไทยยิ่งอายุสูงขึ้นสู่คนสูงวัย ยิ่งมีความสุขน้อยลง เมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเอง
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกออกตามจุดยืนทางการเมือง พบว่า ประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลมีความสุขมาก มากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยพบว่า เกินครึ่งของคนที่สนับสนุนรัฐบาลหรือร้อยละ 53.6 มีความสุขมาก เมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเอง ร้อยละ 47.1 ของคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 43.4 ของคนที่เป็นพลังเงียบ หรือไม่อยู่ฝ่ายใด มีความสุขมากเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเอง แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มพลังเงียบ หรือกลุ่มไม่ฝักฝ่ายใด มีความสุขน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่น คือ ร้อยละ 24.3 ของกลุ่มพลังเงียบ ร้อยละ 22.3 ของกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 17.4 ของกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลมีความสุขน้อยเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเอง
ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิง สุขมากกว่า ชาย เมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเอง เช่นเดียวกับมนุษย์เงินเดือนในกลุ่มวัยเยาวชนที่กำลังเริ่มทำงานหาเงินได้ด้วยตนเองจึงมีความสุขมาก ส่วนคนสูงอายุกลับมีความสุขน้อยมากกว่าใครๆ อย่างไรก็ตาม แนวคิดแนวปฏิบัติที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาและความวางใจของสาธารณชนต่อรัฐบาลบิ๊กตู่ และ คสช. เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนจนถึงวันที่ลงจากอำนาจตามยุทธศาสตร์ Exit Strategy โดยทำให้สาธารณชนนิยมชอบในความทรงจำตลอดไปต่อรัฐบาลและ คสช. คือจะต้องทำให้ประชาชนทุกกลุ่มทั้งที่สนับสนุนรัฐบาล ไม่สนับสนุนรัฐบาล และกลุ่มพลังเงียบมีความสุขมากเมื่อนึกถึง “เงิน" ในกระเป๋าของตัวเอง
“วิธีที่ทำให้คนมีความสุขมากเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเองคือ ต้องมีนโยบายสาธารณะที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยใช้งบประมาณจากการลงทุนและงบช่วยเหลือจากชาวต่างชาติมาว่าจ้างคนไทยให้มีงานทำ มีทักษะดี มีรายได้ดี มีสุขมั่นคง โดยสามารถขายสินค้าและบริการโดยคนไทยได้มากขึ้น คนไทยจำนวนมากไม่ได้ขี้เกียจ คนไทยจำนวนมากขยันทำงานแต่ก็ยังจนและมีทุกข์ เพราะคนไทยขาดนโยบายสาธารณะที่ดีและขาดสถาบันการเงินที่คอยช่วยเหลือทำให้ประชาชนมีสุขเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเองโดยคอยเป็นที่ปรึกษาให้คู่มือชี้แนะประชาชนให้ใช้ชีวิต “ฟิต" กับเงินในกระเป๋าของตัวเอง แต่ทุกวันนี้จะพบว่า สถาบันการเงินส่วนใหญ่มีแต่จะหยิบยื่นความเป็น “นางทาส" เป็นลูกหนี้ให้กับประชาชนและต่างระดมขุดหลุมพรางดูดเงินจากกระเป๋าของประชาชนไปจนประชาชนมีความสุขน้อยลงทุกทีที่นึกถึงเงินในกระเป๋าของตัวเอง" ดร.นพดล กล่าว
ข่าวเด่น