“เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2559 สะท้อนสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะ การลงทุนในหมวดก่อสร้าง ขณะที่การใช้จ่ายรัฐบาลยังเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยโดยขยายตัวสูงที่ร้อยละ 16.8 ต่อปี สำหรับการส่งออกสินค้ากลับมาหดตัวอีกครั้งในกลุ่มตลาดและสินค้าส่งออกหลัก ในด้านอุปทานพบว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้”
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2559 “เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2559 สะท้อนสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ขณะที่การใช้จ่ายรัฐบาลยังเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยโดยขยายตัวสูงที่ร้อยละ 16.8 ต่อปี สำหรับการส่งออกสินค้ากลับมาหดตัวอีกครั้งในกลุ่มตลาดและสินค้าส่งออกหลัก ในด้านอุปทานพบว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้” โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
การบริโภคภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2559 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนเมษายนที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี โดยเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าหดตัวร้อยละ -3.6 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวได้เช่นกันที่ ร้อยละ 2.9 ต่อปี เนื่องจากมีโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายในเดือนเมษายน กอปรกับราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะราคายางพาราที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรที่แท้จริงให้กลับมาขยายตัวได้ในรอบ 4 เดือน มาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 61.5 เนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เป็นสำคัญ
การลงทุนภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2559 มีสัญญาณดีขึ้นจากการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 58.8 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรยังคงชะลอตัวสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนที่หดตัวร้อยละ -13.4 ต่อปี และเมื่อหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) พบว่า หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -7.2 ต่อปี
สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนเมษายน 2559 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายของรัฐบาลจากการเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวในระดับสูง สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวมสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 223.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.8 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 211.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 18.2 ต่อปี มาจาก (1) รายจ่ายประจำ 186.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.3 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 25.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.6 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาล พบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 170.3 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี ขณะที่ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -56.4 พันล้านบาท
ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้ากลับมาหดตัวอีกครั้ง โดยในเดือนเมษายน 2559 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -8.0 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวตามกลุ่มสินค้าส่งออกในทุกกลุ่มสินค้า ยกเว้นเกษตรกรรมที่ยังขยายตัวเป็นบวก ขณะที่ภาพรวมการส่งออกรายตลาดหดตัว โดยเฉพาะคู่ค้าหลัก ได้แก่ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และ ASEAN-9 แต่ตลาดส่งออกไปฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและเวียดนามยังสามารถขยายตัวได้ ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค จะพบว่าประเทศต่างๆ มีการหดตัวเช่นเดียวกัน และหากเปรียบเทียบในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 จะพบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยที่มีการหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวน้อยกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานขยายตัวได้ดีจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนเมษายน 2559 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.8 ต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีจาก จีน รัสเซีย เกาหลี และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชาและลาว
สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -1.6 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวของผลผลิตข้าวเปลือก และปาล์มน้ำมัน เป็นสำคัญ แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัวได้ร้อยละ 2.4 ต่อปี จากผลผลิตสินค้าเกษตรในกลุ่มยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด และหมวดปศุสัตว์ ที่ขยายตัวได้ดี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 85.0 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบต่อ ขีดความสามารถในการส่งออกและปัญหาภัยแล้งทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น
เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.1 และ 0.8 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน โดยในเดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 3.96 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ระดับร้อยละ 44.0 ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2559 อยู่ที่ระดับ 178.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.2 เท่า
ข่าวเด่น