สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษด้านการเกษตรและสหกรณ์ ปี 59-61 ชูกรอบแนวการดำเนินงานรวม 4 ด้าน พร้อมเร่งดำเนินการพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ ด่านสินค้าเกษตรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หวังลดปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานตามกรอบแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษด้านการเกษตรและสหกรณ์ ปีงบประมาณ 2559 – 2561 โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษด้านการเกษตรและสหกรณ์ มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยกำหนดกรอบแนวการดำเนินงานรวม 4 ด้าน คือ การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาพื้นที่ การพัฒนาสินค้า และการบริหารจัดการ
ซึ่งขณะนี้ได้มีประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เรื่องการกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษรวม 10 จังหวัด ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี
ด้านนางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมถึงการดำเนินงานในขณะนี้ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการในทุกด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด่านสินค้าเกษตร เพื่อให้ด่านตรวจและระบบตรวจสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานสากลทั้งด่านตรวจพืช ด่านตรวจสัตว์น้ำ และด่านกักกันสัตว์ เช่น พัฒนาการตรวจสอบและวินิจฉัยจำแนกชนิดศัตรูพืช (Remote Microscope Diagnosis : RMD) แบบ Real Time ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตในสินค้านำเข้า เพื่อให้มีความรวดเร็ว และแม่นยำ ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายสินค้าเกษตรเกิดความคล่องตัว และลดปัญหาการลักลอบการนำเข้าสินค้าเกษตร รวมถึงลดปัญหาโรคระบาด ดำเนินการพัฒนาระบบส่วนขยายเพิ่มเติมเพื่อผู้นำเข้าและผู้ส่งออกตามมาตรฐานบังคับผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลกับ National Single Window (NSW) ซึ่งจะเป็นระบบส่วนกลางครอบคลุมทุกด่านสินค้าเกษตร เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกรรมพิธีการด้านการนำเข้าและส่งออกสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับความสะดวกในการยื่นขอใบอนุญาตและแจ้งการส่งออกนำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ
สนับสนุนการจัดหาพื้นที่ โดยส่งมอบพื้นที่ให้แก่กรมธนารักษ์ เพื่อให้เอกชน หรือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เช่าพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่จังหวัดตาก สระแก้ว มุกดาหาร และเชียงราย การพัฒนาระบบชลประทานเพื่อรองรับพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ตราด มุกดาหาร สงขลา หนองคาย และนครพนม เช่น ฝาย แก้มลิง อ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ ประตูระบายน้ำ เป็นต้น ซึ่งสามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ถึง 42,700 ไร่
นอกจากนี้ การบริหารจัดการผลิตผลทางการเกษตรโดยสหกรณ์ ยังเป็นอีกหนึ่งการดำเนินงานที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญ ซึ่งมีแผนดำเนินการจัดตั้งศูนย์รับซื้อสินค้าเกษตรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ตาก สระแก้ว และสงขลา (สะเดา) เพื่อแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการผลิตผลทางการเกษตรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้มีเสถียรภาพด้านราคาและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ลดปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรมาปลอมปน และเพิ่มศักยภาพของสหกรณ์ในพื้นที่ โดยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก สหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด สหกรณ์นิคมแม่ระมาด จำกัด สหกรณ์การเกษตรแม่ระมาด จำกัด และสหกรณ์การเกษตรพบพระ จำกัด ได้ร่วมกันนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาร์ จำนวน 5,090 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 39 ล้านบาท โดยนำผลผลิตมาปรับปรุงคุณภาพ และมีแผนเพื่อจำหน่ายให้เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ฉะเชิงเทรา จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว โดยสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด นำเข้ามันสำปะหลังจากกัมพูชา จำนวน 3,200 ตัน คิดเป็นมูลค่า 22.56 ล้านบาท โดยนำมาเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารสัตว์เพื่อใช้ในกิจการโคนมของสหกรณ์ และสหกรณ์การเกษตรสะเดา จำกัด จ.สงขลา มีแผนที่จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์รับซื้อสินค้าเกษตร โดยมีการเตรียมพื้นที่ และเตรียมการที่จะก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบตลาดกลางเพื่อให้เกษตรกรนำสินค้ามาจำหน่ายในพื้นที่ และมีแผนในการขยายการดำเนินธุรกิจโดยรับซื้อผลผลิตจากประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งดำเนินการพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ ด่านสินค้าเกษตรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การตลาด ให้สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
ข่าวเด่น