ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ปลัดสธ.ย้ำ'3เก็บ'ป้องกันโรคติดเชื้อจากยุงลาย


 


ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข ร่วมมือประชาชนคงมาตรการ 3 เก็บคือ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ต่อเนื่องตลอดปี ทำจนเป็นนิสัย ย้ำทุกคนช่วยป้องกันโรคจากยุงลายได้ ทั้งไข้เลือดออก ไวรัสซิกา ไข้ปวดข้อยุงลาย

 
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูระบาดของโรคต่างๆ ที่มักพบ คือโรคติดเชื้อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ที่พบได้บ่อยคือ ไข้เลือดออก ตั้งแต่ต้นปี 2559 ถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วย 17,614 คน เสียชีวิต 16 ราย ภาคกลางพบผู้ป่วยมากที่สุด 8,088 คน รองลงมาภาคตะวันออกเฉียง 4,552 คน ภาคใต้และภาคเหนือ ภาคละ 2,000 กว่าคน กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข รณรงค์ขอให้ประชาชนคงมาตรการ 3 เก็บคือ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ต่อเนื่องตลอดปี ทำจนเป็นนิสัย  ทุกคนช่วยป้องกันโรคนี้จากยุงลายได้ เพราะเป็นยุงที่อาศัยในบ้าน ถ้าไม่มียุงลายที่เป็นพาหะนำโรค ก็จะไม่มีผู้ป่วย

 
สำหรับโรคติดเชื้อจากไวรัสซิกาที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค องค์การอนามัยโลกรายงานข้อมูลพื้นที่ที่พบการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ตั้งแต่ปี 2550 - 19 พฤษภาคม 2559 ใน 60 ประเทศ ส่วนมากอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ และอเมริกากลาง สำหรับประเทศไทย ก่อนหน้านี้พบผู้ป่วยประปราย เป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ เมื่อควบคุมโรคเข้มข้นตามหลักระบาดวิทยาก็สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปี 2529 รูปแบบการเกิดโรคไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ โดยที่จังหวัดอุดรธานีหลังจากได้รับรายงานผู้ป่วยจากไต้หวัน ได้ดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมโรค และเฝ้าระวังโรคต่อไปอีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 28 วัน

นายแพทย์โสภณ  กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสซิกาได้เองไม่ต้องส่งตรวจต่างประเทศ ทำให้การคัดกรอง วินิจฉัยผู้ป่วยได้รวดเร็วและครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น ยืนยันว่าไม่มีการระบาดรุนแรง และสถานการณ์ความรุนแรงยังแตกต่างจากประเทศในแถบลาตินอเมริกาเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ  พ.ศ.2558 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบทันที พร้อมเข้มข้นระบบเฝ้าระวังใน 4กลุ่มคือ 1.เฝ้าระวังผู้ป่วย ไข้ออกผื่น ไม่ทราบสาเหตุ 2.เฝ้าระวังในหญิงตั้งครรภ์ 3.เฝ้าระวัง เด็กพิการสมองเล็ก และ 4.เฝ้าระวังผู้ป่วยกลุ่มอาการทางระบบประสาท

นอกจากนี้ ยังเข้มการควบคุมโรคตามมาตรฐานทางระบาดวิทยา ใช้สูตร 3-3-1-5 คือ ได้แก่ แจ้งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) ภายใน 3 ชั่วโมง ลงสอบสวนโรคภายใน 3 ชั่วโมง ดำเนินการควบคุมโรค พ่นยาฆ่ายุงลายในรัศมี 100 เมตรภายใน 1 วัน  เพื่อให้การควบคุมป้องกันโรคได้ผล ไม่กระจายไปในวงกว้าง และประเมินค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย ภายใน 5 วันต้องเป็นศูนย์  ที่สำคัญได้แจ้งเตือนภัยของประชาชนโดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ คงมาตรการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ และการกำจัดยุงตัวแก่ด้วยการพ่นสารเคมี
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 พ.ค. 2559 เวลา : 13:47:03

09-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 9, 2024, 2:38 am