ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ โดยประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 28 จาก 61 ประเทศทั่วโลก ซึ่งผลสำรวจฯ ในปี 2559 ฮ่องกงและสวิตเซอร์แลนด์กระโดดขึ้นมาอยู่อันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาตกไปเป็นอันดับที่ 3
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA (TMA Center for Competitiveness) และ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและสื่อสารประชาสัมพันธ์ กพข. กล่าวว่า “จากภาพรวมในปีที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ที่คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ กพข.ได้วางไว้ มีการตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ มาร่วมกันขับเคลื่อน รวมทั้งได้มีการสื่อสารทำความเข้าใจถึงบทบาทของทุกภาคส่วนที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความร่วมมือและส่งผลให้อันดับความสามารถของประเทศไทยดีขึ้นถึง 2 อันดับมาเป็นอันดับที่ 28 ในปีนี้”
ทั้งนี้ ในปี 2559 ผลการจัดอันดับของไทยดีขึ้นทั้งโดยคะแนนและอันดับ โดยคะแนนรวมในปีนี้เท่ากับ 74.681 เปรียบเทียบกับ 69.786 ในปี 2558 และมีอันดับเลื่อนขึ้นจาก 30 ในปี 2558 เป็น 28 ในปี 2559 ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ประเทศอาเซียนที่อยู่ในการจัดอันดับนี้ ซึ่งได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียแล้ว ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีอันดับดีขึ้นในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีอันดับต่ำลง 1- 6 อันดับ
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กล่าวว่า “จากผลการจัดอันดับจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ทำให้ผลการจัดอันดับในด้านนี้อยู่ในระดับที่ดีมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมาทุกประเทศต่างตกอยู่ในภาวะลำบากจากเศรษฐกิจโลก แต่มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเอื้ออำนวยการดำเนินธุรกิจ
ประกอบกับความเข้มแข็งของภาคเอกชนไทย ทำให้ตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ (domestic economy) ที่ดีขึ้นถึง 9 อันดับ ในขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นผลมาจากการที่รัฐได้มีมาตรการปรับปรุงนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เอกชนแข่งขันได้ ส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาลก็ได้พยายามเร่งรัดการลงทุนให้เกิดขึ้น แต่เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงต้องใช้เวลานานกว่าจะเริ่มเห็นผล”
ในการจัดอันดับฯ ของ IMD มีการพิจารณา 4 ด้าน คือ สภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ปรากฏว่า ปัจจัยไทยที่มีอันดับดีที่สุดคือ สภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 13 จาก 61 ประเทศเท่ากับเมื่อปี 2558 ในขณะที่ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐมีอันดับดีขึ้นถึง 4 อันดับ จากอันดับที่ 27 เป็นอันดับที่ 23 ส่วนด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานกลับมีอันดับที่ลดลง 1 และ 3 อันดับเป็นอันดับที่ 25 และ 49 ตามลำดับในปี 2559
ด้านสภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้นถึง 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic Economy) ที่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 37 จากอันดับที่ 46 ในปี 2558 การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) อยู่ในอันดับที่ 6 จากอันดับที่ 8 ในปี 2558 และการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) ที่อยู่ในอันดับที่ 28 จากอันดับที่ 34 ในปี 2558 ในขณะที่ด้านการจ้างงาน (Employment) ยังอยู่ในอันดับที่ดีมากคืออันดับที่ 3 เช่นเดียวกับปีก่อน เรื่องที่มีอันดับลดลงคือ ราคาและค่าครองชีพ (Prices) ที่ต่ำลงจากอันดับที่ 19 เป็นอันดับที่ 45 เมื่อพิจารณาเป็นประเด็นย่อยจุดเด่นของประเทศไทยยังคงเป็นด้านที่เกี่ยวกับการจ้างงาน การท่องเที่ยว ส่วนประเด็นที่ยังต้องพัฒนาต่อไปคือ ด้านรายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากรที่อยู่ในอันดับที่ 53 และด้านค่าครองชีพ เป็นต้น
ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) มีอันดับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ในปีนี้ทุกปัจจัยย่อยมีอันดับที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน Business Legislation ที่ดีขึ้นถึง 7 อันดับจากปี 2558 โดยขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 44 จากอันดับที่ 51 ในปีก่อนหน้า และด้าน Public Finance ที่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 10 จาก 14 ในปีที่แล้ว นอกจากนี้ ด้าน Fiscal Policy นั้นยังคงได้อันดับที่สูงกว่าเดิมจากที่เคยสูงอยู่แล้ว โดยขึ้นมาจากอันดับที่ 6 ในปี 2015 มาอยู่ในอันดับ 5 ในปี 2016 อีกด้วย ทั้งนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งของประเด็นที่ใช้ในการจัดอันดับในหมวดนี้มาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารในภาคธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่มีอันดับที่สูงขึ้น จึงสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐดำเนินการเช่น มาตรการเกี่ยวกับภาษี สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน รวมถึงความคล่องตัวในการดำเนินนโยบาย ได้รับการยอมรับจากผู้ตอบแบบสำรวจ ส่วนประเด็นที่ยังต้องปรับปรุงในหมวดนี้ ได้แก่ ระยะเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจ และการกระจายรายได้ เป็นต้น
ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ปัจจัยย่อยทั้งด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) ตลาดแรงงาน และ ทัศนคติและค่านิยม มีอันดับดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปัจจัยย่อยด้านการเงินลดลง 2 อันดับเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดอันดับของตัวชี้วัดย่อยด้าน M&A ที่ทำให้อันดับในข้อนี้ลดลงถึง 24 อันดับ ทั้งนี้ จุดเด่นของประเทศไทยในด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ได้แก่ สัดส่วนของกำลังแรงงานต่อประชากร กฎระเบียบเกี่ยวกับสถาบันการเงิน และบทบาทของตลาดทุนในการเป็นแหล่งเงินทุนให้ธุรกิจ โดยประเด็นที่ต้องปรับปรุงคือด้านผลิตภาพ (productivity) ที่ยังคงอยู่ในอันดับค่อนข้างต่ำ
โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ผลการจัดอันดับของไทยในหมวดนี้ยังอยู่ในอันดับค่อนข้างต่ำ โดยปัจจัยพื้นฐานเช่น การคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภคเป็นปัจจัยย่อยที่มีอันดับค่อนข้างดี ส่วนปัจจัยย่อยอื่นๆ ยังคงมีอันดับค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ประเด็นที่ไทยอยู่ในอันดับที่ดีในหมวดนี้ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ อัตราส่วนของผู้ใช้บริการโทรศัพท์ระบบ 3G และ 4G การส่งออกสินค้าไฮเทค และอัตราส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนต่อการใช้พลังงานรวม เป็นต้น นอกจากนั้น ในด้านการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศในด้านอื่นๆ เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นและมีอันดับที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจเอกชนที่มีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 จากปีก่อนหน้า ส่วนประเด็นที่ยังต้องพัฒนาต่อไปได้แก่ การเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ต่อประชากร การประหยัดพลังงาน การพัฒนาความสามารถด้านภาษาของบุคลากร เป็นต้น
“กพข. เป็นกลไกที่ภาครัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ และ TMA ได้ร่วมกัน วิเคราะห์ วางยุทธศาสตร์ กำหนดนโยบาย ประสานการดำเนินการ และติดตามผลในด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐาน กฎหมายและระบบราชการ การพัฒนาคน ระบบข้อมูลและการสื่อความ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งผลการจัดอันดับในปีนี้ทำให้เห็นว่าการทำงานขอล กพข. ที่ต่อเนื่องมากว่า1 ปีครึ่ง เริ่มเห็นผลสำเร็จ ทำให้คณะกรรมการมีความมั่นใจในการดำเนินการตามแผนต่อไป ซึ่งหากเราสามารถทำงานต่อไปอย่างเป็นระบบ จริงจัง และมีความต่อเนื่อง เป็นไปได้ว่าประเทศไทยน่าจะไต่อันดับขึ้นไปได้ถึงอันดับที่ 20ในปี 2020 หรือ ปี พ.ศ. 2563” คุณเทวินทร์สรุปทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ในวันที่ 14-15 กรกฎาคม 2559 สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จะมีการจัดสัมมนา “Thailand Competitiveness Enhancement Program: Orchestrating National Competitiveness” มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันภายใต้สภาพแวดล้อมของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และตัวอย่างความสำเร็จในการเชื่อมโยงและร่วมมือขับเคลื่อนเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน
ข่าวเด่น