ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมชลฯระบุปริมาณน้ำใน4เขื่อนหลักยังอยู่ในเกณฑ์น้อยแม้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว


 


กระทรวงเกษตรฯ ชี้ แม้เข้าสู่ฤดูฝนแต่ฝนยังตกกระจายไม่มากนัก ส่งผลให้น้ำไหลลงเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อย ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงระบายน้ำรวมกันวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร เน้นเก็บน้ำตลอดฤดูฝนให้ได้มากที่สุด ส่วนภาคการเกษตรขอให้รอฝนตกลงมาอย่างสม่ำเสมอมากกว่านี้ จึงค่อยลงมือทำการเพาะปลูกพืชฤดูฝน
 

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศให้วันที่ ๑๘ พ.ค. ๕๙ เป็นวันเริ่มต้นฤดูฝน ปี 25๕๙ อย่างเป็นทางการนั้น ขณะนี้มีปริมาณฝนสะสมรายภาค (๑ – ๒๙ พ.ค. ๕๙) ทั่วทุกภาคมีปริมาณฝนตก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันตก) และ เมื่อเทียบกับปี ๕๘ ทั่วทุกภาคจะมีปริมาณฝนตกสูงกว่าปี ๕๘ (ยกเว้น ภาคใต้ฝั่งตะวันออก) ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 31,255 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 7,814 ล้านลูกบาศก์เมตร หากเปรียบเทียบกับปี 2558 ที่ผ่านมา ณ วันเดียวกันจะเห็นว่าในปีนี้มีปริมาณน้ำน้อยกว่าประมาณ 2,641 ล้านลูกบาศก์เมตร
 
 
ทั้งนี้ เขื่อนขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 39,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ เก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำต่างๆให้ได้มากที่สุด โดยให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกลงมาและไม่กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน พร้อมกันนี้ได้เร่งสั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เน้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในเขื่อนโดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล ซึ่งจะย้ายฐานปฏิบัติการจากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลกไปยัง จ.ตากอีกด้วย

 
ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากเพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝน ปริมาณฝนที่ตกลงมายังไม่กระจายมากนัก ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯยังน้อย ปัจจุบัน (31 พ.ค.) ทั้ง 4 เขื่อน มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,080 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 1,384 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังคงการระบายน้ำลงมารวมกันประมาณวันละ18 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก

ส่วนภาคการเกษตร นั้น ขอให้รอฝนตกลงมาอย่างสม่ำเสมอมากกว่านี้ จึงค่อยลงมือทำการเพาะปลูกพืชฤดูฝน ซึ่งกรมชลประทานจะใช้อาคารชลประทานต่างๆควบคุมน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการส่งน้ำเข้าระบบชลประทานไปยังพื้นที่การเกษตรได้อย่างทั่วถึง ช่วยลดการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆในช่วงฤดูฝน และเก็บกักน้ำในเขื่อนไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้มากที่สุดด้วย
 

 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 มิ.ย. 2559 เวลา : 14:01:24

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:43 am