ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
โพลล์ระบุแกนนำชุมชน45.5%กังวลร่างรธน.ไม่ผ่านการลงประชามติ


 


รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพล (Master Poll) เรื่อง เมื่อแกนนำชุมชนสะท้อนมุมมองต่อร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านหรือไม่ผ่าน?  : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,079 ตัวอย่างจากจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายขั้น (Stratified Multi-Stage Sampling) จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7  ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20-31 พฤษภาคม 2559 ผลการสำรวจ พบว่า
 
เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนถึงการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าตัวอย่างร้อยละ 54.0 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 32.3 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์  ร้อยละ 10.7 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 2.5  ติดตามเป็นบางวัน และร้อยละ 0.5 ระบุไม่ได้ติดตามเลย 
และเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามเกี่ยวกับการรับรู้รับทราบกำหนดลงวันประชามติในร่างรัฐธรรมนูญนั้น ผลการสำรวจพบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 71.1 ระบุทราบแล้วว่าจะมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ในขณะที่ร้อยละ 28.9 ระบุว่าไม่ทราบมาก่อน/เพิ่งทราบจากการสัมภาษณ์ในครั้งนี้
เมื่อสอบถามถึงการพบเห็น/รับรู้ว่ามีหน่วยงานไปให้ความรู้เกี่ยวกับการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญให้กับชาวบ้านในพื้นที่ของตนนั้น พบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 27.2 ระบุเคยพบเห็น/รับรู้ว่ามีการลงพื้นที่แล้ว ในขณะที่ร้อยละ 12.9 ระบุยังไม่มี แต่ทราบว่ากำลังจะมีการลงพื้นที่ อย่างไรก็ตามตัวอย่างร้อยละ 59.9 ระบุยังไม่เคยมีการลงพื้นที่ และยังไม่เคยทราบข่าวว่าจะมีการลงพื้นที่ในเรื่องนี้เลย
 
เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนกรณีการตัดสินใจของชาวบ้านในหมู่บ้าน/ชุมชนของตนเกี่ยวกับการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 53.2 ระบุคิดว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะรับร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ร้อยละ 5.6 ระบุคิดว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 41.2 ระบุคิดว่าน่าจะมีพอๆ กัน
 
เมื่อสอบถามต่อไปว่า รู้สึกกังวลหรือไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านการลงประชามตินั้น  พบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 45.5 ระบุรู้สึกกังวล  ในขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 30.6 ระบุไม่กังวล  โดยให้เหตุผลว่า เพราะเชื่อมั่นในรัฐบาลและ คสช. /หน่วยงานต่างๆ ได้มีความพยายามในการอธิบายให้ประชาชนรับรู้แล้ว/ถ้าไม่ผ่าน ก็ไม่ได้เลือกตั้งใหม่ /คิดว่าน่าจะผ่านประชาชนคงอยากให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว/คิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของคนเกินครึ่ง/ประชาชนส่วนใหญ่เห็นผลงานของรัฐบาลแล้ว  และ ผ่านหรือไม่ผ่าน ประชาชนรากหญ้าก็ยังเดือดร้อนเหมือนเดิม  ทั้งนี้ร้อยละ  23.9 ระบุไม่ได้รู้สึกอะไร/เฉยๆ 
 
ประเด็นสำคัญสุดท้ายคือความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนกรณีสิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ  ที่ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 61.7 ระบุอยากให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต่อไปจนกว่าจะสมบูรณ์/เอาจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาแล้วแก้ไขให้ตรงจุด/แก้ไขเพิ่มตามความเหมาะสมและไม่เร่งรัดมากเกินไป  รองลงมาคือร้อยละ 37.7 ระบุให้รัฐบาลทำงานต่อไปตามแผน/รัฐบาลต้องขับเคลื่อนการลงประชามติให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ผ่าน/อยากให้นายกรัฐมนตรีทำงานต่อไป/อยากให้รัฐบาลและ คสช.ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดต่อไปเรื่อยๆ/บ้านเมืองจะสงบสุขถ้ามีรัฐบาลและ คสช.อยู่  

ร้อยละ 19.7 ระบุไม่ต้องแก้ไขอะไรแล้ว แต่ให้รัฐบาลเร่งให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย/ให้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชนอย่างทั่วถึงและเจาะลึก/ให้ความรู้กับประชาชนให้ถูกต้องและเหมาะสมกับพื้นเพของแต่ละกลุ่ม ร้อยละ 9.0 ระบุอยากให้ดำเนินการเรื่องการเลือกตั้งโดยเร็ว  
 
ร้อยละ 4.5 ระบุให้ประชาชนในระดับรากหญ้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มากขึ้น/ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น ร้อยละ 3.9 ระบุเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในท้องที่ห่างไกลได้รับทราบและเข้าใจให้มากขึ้น และร้อยละ 4.9 ระบุอื่นๆ  อาทิ ให้เอารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 มาแก้ไขแทนฉบับใหม่/ออกรัฐธรรมนูญชั่วคราวและมีผลบังคับใช้ทันที ตามลำดับ
 

บันทึกโดย : วันที่ : 02 มิ.ย. 2559 เวลา : 09:41:21

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:04 am