สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เร่งเดินหน้าแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร จัดประชุมระดมความเห็นข้อมูลต้นทุนการผลิต เผย จากการวิเคราะห์ พบต้นทุนต่อไร่ข้าวนาปรัง ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 13 ด้านต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลงร้อยละ 11 มั่นใจนโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐ จะเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงฤดูการผลิตข้าวนาปี ที่กำลังเริ่มเพาะปลูกแน่นอน
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ในคราวการประชุม ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ได้เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีแผนดำเนินการตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 ถึง 30 มิถุนายน 2560 ประกอบด้วยการกำหนดอุปสงค์และอุปทาน ช่วงการผลิต ช่วงการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บเกี่ยว การตลาดในประเทศ และการตลาดต่างประเทศ
ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นทั้งหน่วยงานหลักและหน่วยงานสนับสนุน มีกิจกรรมการจัดทำข้อมูลต้นทุนการผลิตเป็นกิจกรรมหนึ่งในแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ซึ่ง สศก. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดทำข้อมูลต้นทุนการผลิตที่ผ่านการประชุมพิจารณาระดมความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดย สศก. มีกำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง และจะได้ประมวลข้อคิดเห็นเสนอฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางการวางแผนการผลิตข้าวครบวงจร และรายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อไป
ด้านนางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวถึงรายละเอียดของการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการว่า ในการจัดครั้งที่ 1 เป็นการจัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (วันที่ 31 พฤษภาคม 2559) ณ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ (วันที่ 2 มิถุนายน 2559) ณ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก และ ครั้งที่ 3 ภาคกลาง และภาคใต้ (วันที่ 3 มิถุนายน 2559) ณ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีผู้ร่วมประชุมระดมความเห็น ประกอบด้วยผู้แทน หน่วยงานภาครัฐ และผู้แทนกลุ่มองค์กรเกษตรกร
อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูลต้นทุนการผลิตข้าวนาปรัง ปี 2559 ซึ่งได้เก็บเกี่ยวไปหมดแล้วในหลายพื้นที่ พบว่า ต้นทุนต่อไร่ข้าวนาปรัง ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 13 ส่วนต้นทุนการผลิตต่อหน่วย ลดลงจาก ตันละ 8,990 บาท/ตัน ในปี 2558 เหลือ 7,966 บาท/ตัน ในปี 2559 หรือร้อยละ 11 เนื่องจากเกษตรกรมีการปรับตัวโดยลดปริมาณการใช้ปัจจัยการผลิตให้เหมาะสม ประกอบกับราคาปุ๋ย และน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่ค่าจ้างค่าแรงทางการเกษตรยังทรงตัว ทั้งนี้ นโยบายของภาครัฐในการขอความร่วมมือ และควบคุมราคาปัจจัย ทั้งราคาปุ๋ยเคมี และค่าเช่าที่ดิน เป็นปัจจัยที่เป็นผลทางบวกทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวนาปรังปี 2559 ลดลง และจะเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงฤดูการผลิตข้าวนาปี ที่กำลังจะเริ่มเพาะปลูกหลังจากนี้ ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวนาปี ปี 2559 ลดลงจากปีก่อนอย่างแน่นอน
ข่าวเด่น