ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) พร้อมด้วย ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยร่วมกันว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) ได้สำรวจความคิดเห็น (POLL) ของกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรใน 7 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี นครนายก พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ระหว่างวันที่ 1-16 พฤษภาคม 2559 (สุ่มจากเกษตรกรในจังหวัดพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง) รวมตัวอย่างทั้งหมด 416 ตัวอย่าง ในหัวข้อ “ความคิดเห็นของเกษตรกรต่อการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”
พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีความเห็นว่า กระทรวงเกษตรฯ มีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาทางการเกษตรที่เกิดขึ้นถึง ร้อยละ 97.1 โดยได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภัยแล้งจากเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 99.8 และเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ ร้อยละ 94.6 ทั้งนี้ ยังเห็นว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการผลิตได้ ร้อยละ 68.6 และทำให้ครอบครัวตนเองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ร้อยละ 68.1 ขณะที่ภาพรวม เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการแก้ไขปัญหา ระดับปานกลาง
ในส่วนของมาตรการที่สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชหลังนา/พืชใช้น้ำน้อย นั้น เกษตรกรมีความไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำให้มีรายได้เพียงพอและคุ้มค่าพอที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชดังกล่าว จึงทำให้มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 29.7 เท่านั้นที่ปฏิบัติตามและเพราะเห็นว่าใช้ได้จริง
สำหรับเรื่องความเข้าใจในหน่วยงานที่เป็นผู้ดูแลราคาผลผลิตทางการเกษตร เกษตรกรเห็นว่ากระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลัก ด้านความช่วยเหลือที่เกษตรกรต้องการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยเหลือเรียงตามลำดับมากไปหาน้อย คือ 1) การยกระดับราคาสินค้าเกษตร 2) การลดราคาปัจจัยการผลิต 3) การหาตลาดสินค้าเกษตร 4) เมล็ดพันธุ์/พันธุ์สัตว์ คุณภาพดี และ 5) ความรู้ในการเกษตร อย่างไรก็ตาม ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ได้เสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มเติมดังนี้
1. ควรให้ความรู้กับเกษตรกรถึงแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการความเสี่ยง และการวิเคราะห์ความคุ้มค่าการลงทุนจากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ราคาสินค้าผันผวน ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น
2. ควรจัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตของเกษตรกรควบคู่กับการให้ความรู้ในการผลิตสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด
3. ควรปรับปรุงแนวทางการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชหลังนา/พืชใช้น้ำน้อยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น เช่น การให้ความรู้กับเกษตรกรในพืชที่ปลูกควบคู่ไปกับการมีที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำตลอดการเพาะปลูก รวมทั้งระยะเวลาในการสนับสนุนเหมาะสมกับช่วงการผลิตด้วย
ข่าวเด่น