ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สบส.ติวเข้ม'คลินิกเสริมความงาม'ปฏิบัติตามกฎหมายป้องปรามกระทำผิด


 


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ   อบรมผู้ประกอบการคลินิกเสริมความงามในกทม. พนักงานเจ้าหน้าที่กฎหมายส่วนกลาง/เขต และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด   ชี้แจงความเข้าใจและปฏิบัติตามมาตรฐานกฎหมาย 2 ฉบับเคร่งครัด  คือกฎหมายสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และกฎหมาย อย.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง  เครื่องมือแพทย์  และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ป้องปรามกระทำผิดก่อนและหลังได้รับอนุญาต  ไม่โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง   เผยขณะนี้มีคลินิกความงามขึ้นทะเบียนทั้งหมด 1,458 แห่ง แนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น แข่งขันกันสูงทั้งตลาดบนและตลาดล่าง    
 
เช้าวันนี้ (2 มิถุนายน 2559) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น หลักสี่ กทม. นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดอบรมผู้ประกอบการ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเสริมความงามหรือเรียกว่าคลินิกเสริมความงามในเขตกทม.  พนักงานเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายจากส่วนกลาง /เขตและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตปริมณฑล รวมประมาณ 200 คน  เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติตามมาตรฐานของกฎหมาย 2 ฉบับอย่างเคร่งครัด  คือ  สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และกฎหมายควบคุมยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง  วัตถุเสพติด เครื่องมือแพทย์ ที่ใช้ในการให้บริการในคลินิก ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่ได้มาตรฐานสมประโยชน์
 
อธิบดีกรม สบส.กล่าวว่า  การประชุมผู้ประกอบการคลินิกเสริมความงามครั้งนี้  เพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำผิดทั้งก่อนและหลังได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการ   เนื่องจากบริการด้านนี้ครองอันดับ 1 ในธุรกิจประเภทดาวเด่นติดต่อกันมา 5 ปี  มีทั้งกลุ่มบริการตลาดบน และตลาดล่างซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่มีรายได้ปานกลาง  หรือเป็นนิสิต นักศึกษา มักตั้งในย่านชุมชน และมีสาขาจำนวนมากทั้งในกทม.และต่างจังหวัด มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ15 ต่อปี  จึงมีการแข่งขันในระดับสูงทั้งในเรื่องของความรู้ความชำนาญของผู้ดำเนินการ และเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการให้บริการ ที่ผ่านมามีบุคคลหรือสถานพยาบาลบางแห่งมุ่งแสวงหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ ความถูกต้องกฎหมาย  เกิดปัญหาร้องเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งตัวบุคคลที่ประกอบวิชาชีพ หลังรับบริการไปแล้วไม่เป็นที่พึงพอใจ  ซึ่งพบปีละประมาณ 300 กว่าราย อาจก่อความเสียหายต่อสังคม เศรษฐกิจได้ ปัจจุบันทั่วประเทศมีสถานพยาบาลในกลุ่มของคลินิกเวชกรรมทั่วไปและเฉพาะทาง ให้บริการเสริมความงามด้วยรวม 1,458 แห่ง หรือประมาณร้อยละ 8  ของคลินิกเวชกรรมทั่วไปและเฉพาะทางที่มีทั้งหมด 10,904 แห่ง
 
     
สำหรับในการตรวจสอบคลินิกเสริมความงามที่ได้รับการร้องเรียน กรม สบส. จะมอบให้กองกฎหมายดำเนินการสืบสวนและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อจับกุมดำเนินคดี จากการตรวจจับที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะพบความผิด 3 เรื่องคือ ให้บุคคลที่ไม่ใช่แพทย์มารักษา  ใช้ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.  และโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น หล่อถึงชาติหน้า ดีที่สุด แห่งแรก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทิศทางการดำเนินการควบคุมมาตรฐานคลินิกเสริมความงามรวมทั้งสถานพยาบาลอื่นๆ ด้วย ต่อจากนี้ไปกรม สบส.จะเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ปฏิบัติได้ถูกต้องตามขั้นตอน และเป็นแนวทางเดียวกัน ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาให้ได้มากที่สุด   
ทั้งนี้คลินิกเสริมความงาม กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องเป็นแพทย์ที่มีวุฒิบัตรด้านเสริมความงาม รวมทั้งเครื่องมือ เช่น เครื่องเลเซอร์ผิวหน้า  เครื่องดูดไขมัน  เวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น ยาลดความอ้วนที่ใช้ในคลินิกจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. และใช้โดยแพทย์เท่านั้น หากเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ จะมีความผิดตามกฎหมาย  เช่น ใช้ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 เป็นต้น         
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 มิ.ย. 2559 เวลา : 16:01:17

11-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 11, 2024, 4:20 pm