บ่ายวันนี้ (3 มิถุนายน 2559) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Wellness and Tourism) ครั้งที่ 5/2559
นายแพทย์ธวัช กล่าวว่า การประชุมหารือในวันนี้เป็นการพิจารณาโครงการเร่งด่วน (Quick win) ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ 10 ปี (พ.ศ.2559-2568) โดยพิจารณาใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.การพัฒนาระบบประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย (Health Insurance Fee) โดยมีนโยบายจัดเก็บค่าประกันสุขภาพจากชาวต่างชาติทุกรายในลักษณะภาคบังคับ (Compulsory) ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ในอัตรา 50 บาท ต่อ 1 ครั้ง ของการเดินทางเข้ามาประเทศไทย เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันสุขภาพพื้นฐาน (Health Security) กรณีเดินทางโดยเครื่องบินที่รัฐบาลไทยให้การดูแลชาวต่างชาติ
2.การอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้ามาพำนักในไทยเพื่อการรักษาพยาบาลกลุ่มประเทศ CLMV และจีน รวม 90 วัน สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม รวมไม่เกิน 4 ราย
3.การขยายเวลา Long Stay Visa จากเดิม 1 ปี เพิ่มเป็น 10 ปี พร้อมกำหนดให้มีการจัดทำประกันสุขภาพเพื่อแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย
4.การจัดตั้งผู้ช่วยทูตด้านสาธารณสุข (Medical Attache)
5.การจัดทำ Package พิเศษด้านบริการทันตกรรมและการตรวจสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติ รองรับผู้รับบริการกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียอย่างครบวงจร และบริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์รองรับประเทศจีน เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในบริการรักษาพยาบาลที่ไทยมีความพร้อม
6.การประชาสัมพันธ์ความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพนานาชาติผ่านระบบ In-Flight Entertainment และการจัดทำเอกสารแนบ (Leaflet) ในนิตยสารสวัสดีและนิตยสารกินรีโดยเผยแพร่ข้อมูลสำคัญด้านบริการรักษาพยาบาล/ ส่งเสริมสุขภาพ/ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติผ่านสายการบินไทยในเที่ยวบินระหว่างประเทศ
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวว่า กรมสบส.ได้ร่างหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติโดยมีสาระสำคัญความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านพัฒนาระบบประกันสุขภาพและอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราชาวต่างชาติ ดังนี้
1.พัฒนาระบบประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติ (Health Insurance Fee)เพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพพื้นฐาน (Health Security) ที่รัฐบาลไทยให้การดูแลชาวต่างชาติโดยจัดเก็บค่าประกันสุขภาพสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทุกรายในลักษณะภาคบังคับ (Compulsory) ในอัตรารายละ 50 บาทต่อ 1 ครั้ง มีระยะเวลาการคุ้มครองไม่เกิน 14 วัน ใช้สิทธิประโยชน์และความคุ้มครอง โดยต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวม 2 ฉบับ
2.การขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยกรณีเข้ารักษาพยาบาลกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และจีน เป็น 90 วัน สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม รวมไม่เกิน 4 ราย 3.การขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับวีซ่าประเภทอยู่ชั่วคราว (Non-immigrant Visa) ทั้ง 14 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และแคนาดา ซึ่งมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ต้องมีเงินฝากในบัญชี 3,000,000 บาท/รายได้ต่อเดือน 100,000 บาท โดยอนุญาตให้ต่อวีซ่า 2 ครั้ง ครั้งละ 5 ปี รวมเป็น 10 ปี และต้องรายงานตัวทุก 90 วัน มีการแสดงเอกสารการประกันสุขภาพระยะเวลาคุ้มครอง 5 ปี
สำหรับกรณีคู่สมรสตามกฎหมายขอพำนักแบบระยะยาว (Long Stay Visa) จะต้องมีเงินฝากในประเทศไทย/รายได้ต่อเดือนยื่นแยกกัน และต้องคงเงินไว้ในธนาคารไทยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปีนับจากวันที่ได้รับวีซ่าจึงจะสามารถถอนเงินได้ไม่เกินร้อยละ 50 ซึ่งพร้อมแสดงหลักฐานการถอนเงินเพื่อใช้จ่ายในประเทศ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ซื้อที่พักอาศัย ยานพาหนะ และการศึกษาบุตร โดยมีค่าธรรมเนียมการขอวีซ่ารายละ 10,000 บาท และ 4.จัดตั้งผู้ช่วยทูตด้านสาธารณสุข (Medical Attaché) เพื่อแก้ปัญหาสำคัญด้านสุขภาพและสาธารณสุขจากประเทศที่เกี่ยวข้องในแต่ละด้าน อาทิ การเป็นตัวแทนของประเทศเพื่อจัดระบบ และกลไกเพื่อนำไปสู่การอภิบาล ระบบสุขภาพโลก (Global Health) โดยจัดการต่อปัญหาสุขภาพข้ามพรมแดน ปัญหาโรคระบาด ปัญหาด้านสิทธิบัตรยา การแบ่งปันผลประโยชน์ การบริหารจัดการกองทุนสุขภาพโลก การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การเจรจาทางการทูต โดยบูรณาการทำงานด้านสุขภาพโลกร่วมกับองค์กรระดับโลก การข่าวสารสาธารณสุข โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณะในต่างประเทศ และด้านการคุ้มครอง การปกป้อง รักษา ส่งเสริมสถานะและผลประโยชน์ด้านสุขภาพของไทยในเวทีโลกเพื่อทำหน้าที่ในการร่วมกำหนดนโยบายด้านสุขภาพโลกกับหน่วยงานไทยในต่างประเทศ ดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล
ตลอดจนการให้คำปรึกษาช่วยเหลือชาวไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวไทยและชาวต่างชาติต่อระบบสุขภาพของไทยและของโลกโดยผู้ช่วยทูตด้านสาธารณสุขจะดำเนินงานร่วมกับทีมไทยแลนด์ในต่างประเทศภายใต้นโยบาย One Roof Policy โดยมีประเทศเป้าหมายที่จะจัดส่งผู้ช่วยทูตด้านสาธารณสุขไปประจำการ ได้แก่ ประเทศที่ตั้งขององค์กรระดับโลก (WHO/UN/ASEAN/SEARO) ประเทศที่มีแรงงานไทยไปปฏิบัติงานเป็นจำนวนมาก ประเทศที่ให้ความนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย
ประเด็นการจัดทำ Package พิเศษด้านบริการทันตกรรมและการตรวจสุขภาพสำหรับผู้รับบริการจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย โดยประสานงานกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน/โรงพยาบาลและคลินิกที่ผ่านมาตรฐาน JCI เพื่อจัดทำราคาพิเศษในแต่ละโปรแกรม รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลความพร้อมของการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์รองรับผู้รับบริการจากจีน ซึ่งเรามีการออกกฎหมายรองรับ ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ปัจจุบันมีโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีคุณภาพ มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย รวม 63 แห่ง
ประเด็นสุดท้ายการประชาสัมพันธ์ความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพนานาชาติด้วยการจัดทำเป็นวีดิทัศน์ ความยาวประมาณ 5 นาที ผ่านระบบ In-Flight Entertainment ผ่านระบบสาระบันเทิงบนเครื่องบิน และการจัดทำเอกสารแนบ (Leaflet) ในนิตยสารสวัสดีและนิตยสารกินรี เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้โดยสารบนเครื่องบินโดยสารระหว่างประเทศของสายการบินไทยซึ่งประเทศไทยได้รับการยอมรับจากชาวโลกในด้านวิทยาการทางการแพทย์บุคลากรที่มีมาตรฐานสากล มีราคาเหมาะสม มีบริการที่ดีมีคุณภาพ เทคโนโลยีทันสมัย อัธยาศัยดี และมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า ประเทศไทยจะสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อย่างแน่นอน
ข่าวเด่น