สรุปสภาวะตลาดทองคำแท่ง วันที่ 3 มิถุนายน 2559
สภาวะตลาดวันที่ 3 มิถุนายน 2559 ราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบที่ระดับ 1,207.40-1,213.11 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่ง 96.5% ภายในประเทศขายออกอยู่ที่ 20,450 บาทต่อบาททองคำ โดยราคาปรับตัวลดลง 50 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 20,500 บาทต่อบาททองคำ
(หมายเหตุ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้น ณ เวลา 16.40 น.ของวันที่ 03/06/16)
แนวโน้มวันที่ 6 มิถุนายน 2559
ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำปี 2016 อีซีบีคาดว่าเศรษฐกิจอาจเติบโต 1.6% ในปี 2016 โดยปรับขึ้นจากระดับ 1.4% ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนมีนาคม และ อีซีบีได้ปรับขึ้นตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อประจำปี 2016 ขึ้นสู่ 0.2% จาก 0.1% แต่ระดับดังกล่าวยังคงอยู่ห่างจากเป้าหมายที่ระดับใกล้ 2.0% ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.00% ตามคาด พร้อมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่ -0.40% และ 0.25% ตามลำดับ แม้สกุลเงินยูโรและราคาทองคำจะได้รับปัจจัยบวกจากข้อมูลดังกล่าวแต่การขยับขึ้นค่อนข้างจำกัด เนื่องจากนายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบีกล่าวเตือนถึงความเสี่ยงต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในยูโรโซนยังคงมีความโน้มเอียงไปในช่วงขาลง รวมทั้งความกังวลที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) หรือ Brexit นั้นกลายเป็นปัจจัยกดดันทิศทางสกุลเงินยูโร
อย่างไรก็ตามราคาทองคำได้รับแรงหนุน เมื่อนายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก แสดงความกังวลต่อประสิทธิภาพการผลิตของสหรัฐอาจจะกลับมาเติบโตในอัตราต่ำเหมือนกับในช่วงหลังเกิดวิกฤติปี 1973 และ ปัจจัยนี้ร่วมกับกำลังแรงงานที่เติบโตช้าลง จะส่งผลลบต่ออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง โดยสัญญาล่วงหน้าตลาดเงินสหรัฐปรับตัวรับโอกาสเพียง 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน และ 60% ในเดือนกรกฎาคม และสะท้อนผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตร รัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีอยู่ที่ 1.85% ในช่วงนี้ โดยดิ่งลงจาก 2.25% ในช่วงต้นปี 2016
ทั้งนี้นักลงทุนจับตา นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดจะกล่าวแถลงในวันจันทร์นี้ หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจในทางบวกเหล่านี้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเติบโตเร็วขึ้น และปัจจัยบวกนี้อาจเปิดโอกาส ให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้มากขึ้น
กลยุทธ์การลงทุน
วายแอลจี แนะนำรอจังหวะเข้าซื้อโดยสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากอาจเข้าซื้อเมื่อราคาย่อตัวลงมาบริเวณ 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อยแนะนำให้รอดูบริเวณโซนแนวรับสำคัญ 1,185 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และรอขายทำกำไรบางส่วนบริเวณแนวต้านแรกที่ 1,221 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนที่เหลือให้รอไปปิดสถานะทำกำไรบริเวณแนวต้านถัดไปที่ 1,239 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และควรตั้งจุดตัดขาดทุนหากราคาไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ เพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน ซึ่งหากนักลงทุนไม่มีวินัยในการลงทุนที่จะตัดขาดทุน จะทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่อาจควบคุมได้อีกต่อไป
ทองคำแท่ง (96.50%)
แนวรับ 1,200 (20,210บาท) 1,192 (20,070บาท) 1,185 (19,950บาท)
แนวต้าน 1,221 (20,560บาท) 1,239 (20,870บาท) 1,247 (21,000บาท)
ข่าวเด่น