สนองนโยบายรัฐปราบปรามผู้กระทำผิดด้านโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง หลังมีข่าวเด็ก ม. 5เสียชีวิต คาดว่าสาเหตุอาจเกิดจากการกินยาลดความอ้วนที่ซื้อผ่านทางอินเทอร์เน็ต อย. รุกจับมือกับตำรวจบก.ปคบ. , ตำรวจ สภ.ปากเกร็ด และ สสจ.ชลบุรี ตรวจสอบเข้มหาแหล่งขายยาลดความอ้วนผิดกฎหมาย ทั้งสั่งซื้อและสืบสวนสอบสวน พบเด็กสาวกินยาลดความอ้วนยี่ห้อ “บิวตี้ชิคค์ (Beauty Chic)” สั่งซื้อผ่านเฟซบุ๊ก ผู้ขายยาและผู้ผลิตอยู่ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ยึดของกลางกว่า 11 ล้านบาท แจ้งข้อหาผู้กระทำผิดทันที
เตือนสาวอยากผอมอย่าหลงเชื่อโฆษณาขายยาลดความอ้วน โดยเฉพาะผ่านทาง Social media เพราะยาลดความอ้วนมักมีการลักลอบใส่สารออกฤทธิ์ เสี่ยงต่อผลข้างเคียงสูงทั้งหัวใจและหลอดเลือด อาจทำให้เสียชีวิตได้ พร้อมเตือนผู้ที่โพสต์ขายยาลดความอ้วนทางสื่อสังคมออนไลน์และทุกสื่อ ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ยา ควรมีคุณธรรมจริยธรรม หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดี มีโทษทั้งจำและปรับในอัตราโทษที่สูง
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะโฆษก อย. ร่วมกับ ตำรวจ บก.ปคบ. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำทีมโดย พล.ต.ต.ประเสริฐ พัฒนาดี ผบก.ปคบ. , พ.ต.อ.ทรงโปรด สิริสุขะ ผกก.4 บก.ปคบ.และ พ.ต.ท.อภิชัย ไลออน รอง ผกก. 4 บก.ปคบ. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จากนโยบายรัฐบาลในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาของประชาชนผู้ได้รับความเดือนร้อนจากการสั่งซื้อสินค้า รวมทั้งการกระทำความผิดอาญาอื่นทางอินเทอร์เน็ต ประกอบกับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการปราบปรามจับกุมผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ล่าสุด ตามที่มีข่าวนักเรียนหญิง ม.5 เสียชีวิตอาจเกิดจากผลข้างเคียงของการกินยาลดความอ้วน
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว หลังทราบข่าวจึงรุดขอข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตที่ตำรวจ สภ.ปากเกร็ด และประสานไปยังตำรวจ บก.ปคบ. ให้สืบสวนการขายยาลดความอ้วนดังกล่าวทันที ซึ่งตรวจพบหญิงสาวซื้อยาที่มีการโฆษณาชวนเชื่อผ่านทางเฟซบุ๊ก ชื่อ “Beauty Chic By noon”ทางตำรวจ บก.ปคบ. จึงได้ติดต่อขอซื้อผลิตภัณฑ์จากเฟซบุ๊กดังกล่าวมาตรวจสอบ พบเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสูตรผอมขาวชื่อ “บิวตี้ชิคค์ (Beauty Chic) มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง และขยายผลต่อพบแหล่งผลิต/จำหน่ายคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เนเจอร์คอส แลบอราทอรี่ เลขที่ 99/116 ม.6 ต.บ้านปึก อ.เมือง จ.ชลบุรี และสถานที่โฆษณาบ้านเช่าเลขที่ 47 ห้องที่ 4 หมู่ 2 ต.หนองขยาด อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ดังนั้น เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559เจ้าหน้าที่ตำรวจ , อย. และ สสจ.ชลบุรี ได้กระจายกำลังนำหมายค้นของศาลแขวงชลบุรีเข้าตรวจค้นสถานที่
2 แห่ง ดังนี้
1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด เนเจอร์คอส แลบอราทอรี่ เลขที่ 99/116 ม.6 ต.บ้านปึก อ.เมือง จ.ชลบุรีพบ น.ส.มณษา อังกูรชวะนน แสดงตนเป็นเจ้าของสถานที่และนำการตรวจค้น ผลการตรวจสอบ พบไม่มีใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน และสถานที่ผลิตไม่ผ่านมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) พบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุแคปซูลสีต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังพบผลิตภัณฑ์บรรจุในขวดพลาสติกใส ฉลากสีฟ้าระบุข้อความ lishou และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารIshou บรรจุในกระป๋องโลหะสีฟ้า ทั้งหมดนี้ไม่พบการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์ รวมทั้งยังพบยาชุด และยาอันตรายจำนวนมาก
2. บ้านเช่าเลขที่ 47 ห้องที่ 4 หมู่ 2 ต.หนองขยาด อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี โดยมี น.ส.ศิริรัตน์ พรบุญมารุ่ง เป็นผู้นำการตรวจค้น พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่าง ๆ ที่โฆษณาลดน้ำหนักจำนวนมาก ซึ่งได้สั่งซื้อมาจากหจก. เนเจอร์ คอส แลบอราทอรี และเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอม แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์แคปซูลบรรจุขวดพลาสติกสีทอง ฉลากสีเหลือง ระบุข้อความ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร: สูตรผอมขาว บิวตี้ชิคค์ Beauty Chic สกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ 7 ชนิด
2. ผลิตภัณฑ์แคปซูลบรรจุขวดพลาสติกสีเงิน ฉลากสีน้ำตาล ระบุข้อความ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร: สูตรดื้อยา บิวตี้ชิคค์ Beauty Chic สกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ 7 ชนิด
3. ผลิตภัณฑ์บรรจุกระปุกสีขาว ฉลากสีเหลือง ระบุข้อความ บิวตี้ชิคค์ Beauty Chic สมุนไพรลดเฉพาะส่วน ลดกระชับ ต้นแขน ต้นขา สะโพก ช่วยกระชับสัดส่วนได้เป็นอย่างดี
4. แคปซูลสีส้มบรรจุแผงบริสเตอร์
5. แคปซูลสีแดงเหลืองบรรจุแผงบริสเตอร์
เจ้าหน้าที่ได้ยึดของกลางและส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมมูลค่าของกลางกว่า11 ล้านบาทส่วนผลดำเนินคดี ในเบื้องต้นแจ้งข้อหา ดังนี้
1. กรณีเป็นยา
1.1 ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000บาท
1.2 ขายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
1.3 ขายยาบรรจุเสร็จหลายขนาดโดยจัดเป็นชุดในคราวเดียวกัน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. กรณีเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
2.1 ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
2.2 ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล กล่าวต่อไปว่า ขอเตือนมายังหญิงสาว หรือผู้ที่ต้องการลดความอ้วนอย่าหลงเชื่อโฆษณาขายยาลดความอ้วนผ่านทางสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทางเว็บไซต์ และทาง Social media หรือไปหาซื้อยามากินเองเด็ดขาด การใช้ยาลดความอ้วนอย่างไม่ถูกต้องจะไม่สามารถทำให้หายจากโรคอ้วนได้ เพราะหากใช้ติดต่อกันระยะหนึ่ง น้ำหนักจะกลับขึ้นได้อีก (yo-yo effect) และเสี่ยงจากผลข้างเคียงของยา โดยจะมีอาการนอนไม่หลับ เวียนศีรษะ วิตกกังวล ปวดศีรษะ ใจสั่น ตาพร่า ท้องผูก ฯลฯ ที่สำคัญคือ อันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ ฉะนั้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อแก้ปัญหาโรคอ้วน ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น และขอเตือนผู้ขายยาผ่านทาง Social Media หรือร้านขายยาต่าง ๆ อย่าได้กระทำผิดกฎหมาย หากผู้บริโภคต้องการลดน้ำหนัก ควรหันมาออกกำลังกายทุกวัน ดื่มน้ำมาก ๆ บริโภคอาหารประเภท แป้ง น้ำตาล และไขมันจากสัตว์ให้น้อยลง บริโภคผลไม้ ผักหลายสี ทุกวัน หากพบเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่าย ยาลดความอ้วนผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือ สายด่วน บก.ปคบ 1135 เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด
ข่าวเด่น