วันนี้ (6 มิ.ย. 59) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงาน “ประชารัฐ ร่วมใจ ต้านภัยการค้ามนุษย์” สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานมอบรางวัลแก่ผู้ปฏิบัติงานดีเด่น ใน 4 ด้าน จำนวน 12 รางวัล ได้แก่ ด้านการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ด้านการป้องกัน ด้านการดำเนินคดี และด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ และสื่อมวลชนดีเด่น จำนวน 3 รางวัล
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมงานในวันนี้ ไทยได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีถือว่านี้เป็นความสำเร็จเพียงขั้นที่ 1 เท่านั้น ถ้าจะสำเร็จสมบูรณ์จะต้องสามารถกำจัดขบวนการค้ามนุษย์ได้ทั้งหมด โดยจะต้องมีแผนดำเนินงาน และต้องเข้าใจประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าสามารถสร้างโครงข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศ ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
ปัญหาการค้ามนุษย์ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง อีกทั้งยังมีการพัฒนารูปแบบจนมีความซับซ้อนและมีวิธีการที่หลากหลาย ก่อให้เกิดกระบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ แสวงหาผลประโยชน์จากเหยื่อ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไขทั้งในระดับประเทศ ทวิภาคี และระดับภูมิภาค โดยปัญหาการค้ามนุษย์นั้น สาเหตุมาจากปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำทางอาชีพ
ทั้งนี้ การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ถือเป็นวาระแห่งชาติ และรัฐบาลได้มอบนโยบาย "ไม่ยอมรับต่อปัญหาการค้ามนุษย์” (Zero Tolerance) เพื่อให้ทุกภาคส่วนนำไปปฏิบัติ และปราบปรามกระบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง เน้นที่ผลลัพธ์ของการดำเนินงาน โดยในปี 2558 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกว่า 2,590.31ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 69.33 และได้จัดสรรงบประมาณในส่วนนี้มาแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ภาคประมง เป็นเงิน 508.40 ล้านบาท หรือร้อยละ 19 ของงบประมาณทั้งหมด
ในส่วนการดำเนินการด้านกฎหมายได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 กำหนดวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ให้ใช้ระบบไต่สวนและให้เป็นไปโดยรวดเร็ว การสืบพยานให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียง ในลักษณะการประชุมทางจอภาพได้ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน โดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีการบูรณาการ รวมทั้งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความรุนแรงของปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร พลเรือน และนักการเมืองท้องถิ่น ถูกดำเนินการทางวินัยและดำเนินคดีอาญา รวม 34 ราย โดยบางราย ศาลได้พิพากษาลงโทษแล้ว และบางรายถูกพักราชการไว้ก่อนหรือให้ออกจากราชการ เพื่อไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน
รัฐบาลยังให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยไม่เลือกปฏิบัติ เช่น การอนุญาตให้อยู่ในประเทศชั่วคราวเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างการและจิตใจ การฝึกอาชีพและทักษะ ซึ่งกระบวนการคัดแยกผู้เสียหายถือเป็นหัวใจสำคัญและเป็นการทำงานขั้นตอนแรกที่จะทำให้ผู้เสียหายได้รับประโยชน์สูงสุดจากบริการต่าง ๆ ที่จะได้รับจากรัฐบาล ทั้งในเรื่องที่อยู่ที่ปลอดภัย อาหารครบหมู่และถูกสุขลักษณะ การฟื้นฟูเยียวยาทางจิตใจ การฝึกอาชีพ การจัดหาล่ามช่วยแปลภาษา สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับ เช่น การรักษาพยาบาล ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินในการเดินทางกลับประเทศไทยหรือประเทศต้นทาง เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติผ่อนผันให้ผู้เสียหาย และพยานในคดีค้ามนุษย์ อยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว และได้รับอนุญาตทำงานได้ตามกฎหมาย โดยขยายระยะเวลาจากเดิม 6 เดือน เป็นไม่เกิน 1 ปี
โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหามาตรการที่จะช่วยเหลือให้ผู้เสียหายและพยานอยู่ในประเทศไทยต่อได้ภายหลังสิ้นสุดการดำเนินคดี เพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถอยู่ในประเทศไทยและทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากการดำเนินคดีและการช่วยเหลือแล้ว จะต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการแก้ไขต้นเหตุของปัญหา โดยรัฐบาลได้ตั้งกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน และมีการจัดระเบียบ ทั้งการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว การจัดระเบียบคนขอทาน และการจัดระเบียบสังคม โดยได้เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสถานบริการที่มีความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ และเพื่อช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมและการคุ้มครอง ทางกฎหมายตามมาตรฐานสากล เพื่อมิให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU และการค้ามนุษย์ ในภาคประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล เร่งตรวจสอบเรือประมงที่ทำการประมงผิดกฎหมาย ติดตั้งระบบ VMS ควบคุมเรือเข้า–ออกจากท่า ตรวจสอบเอกสารคนงานที่ทำงานบนเรือ จับกุมเรือประมงและโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่กระทำความผิด แก้ไขกฎระเบียบเพื่อลดความเสี่ยงที่แรงงานจะถูกเอารัดเอาเปรียบ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การดำเนินการต่างๆ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งด้านการลดความเสี่ยงด้านการค้ามนุษย์ การพัฒนาทักษะชีวิตเด็กเร่ร่อน เพื่อป้องกันการตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
โดยรัฐบาลมุ่งมั่นในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีข้อท้าทายในการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ รัฐบาลตระหนักว่า ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน จะต้องเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในสังคมบูรณาการร่วมกันในการดำเนินการป้องปรามและป้องกันการค้ามนุษย์ผ่านกลไกประชารัฐ รวมทั้งการปลูกจิตสำนึก คุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล
ข่าวเด่น