'กมลประกันภัย'รอดจากการถูกเพิกถอนใบอนุญาตคปภ.วิเคราะห์เชิงลึกข้อกฎหมายและแผนธุรกิจใหม่ก่อนไฟเขียวให้ดำเนินกิจการต่อไปภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด
ตามที่นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ได้มีคำสั่งให้บริษัทกมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 และให้บริษัทเร่งแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น การตั้งสำรองค่าสินไหมทดแทนและหนี้สินต่างๆให้ครบถ้วน การจัดหาเงินทุนเพื่อทำให้บริษัทดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และปรับปรุงให้มีระบบงานของบริษัทและบุคลากรที่เหมาะสมเพียงพอที่จะให้บริการแก่ประชาชนและผู้เอาประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพนั้น แต่เนื่องจากบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้อย่างครบถ้วน สำนักงาน คปภ.โดยความเห็นชอบของบอร์ด คปภ. จึงเสนอเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทกมลประกันภัย จำกัด (มหาชน)นั้น
ต่อมาบริษัทได้ส่งหนังสือนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้พิจารณาระงับการ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทและให้บริษัทดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยได้ตามปกติ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ส่งเรื่องมายังปลัดกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลังได้สั่งการให้ คปภ. พิจารณา และสำนักงาน คปภ. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมทั้งได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุม บอร์ด คปภ. ในการประชุมครั้งที่ 5/2559 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ซึ่งที่ประชุม คปภ.พิจารณาแล้วมีมติให้สำนักงาน คปภ. ดำเนินการเตรียมข้อมูลเพิ่มเติมและวิเคราะห์ในเชิงลึกเกี่ยวกับแผนธุรกิจและความเพียงพอของเงินทุนของบริษัทเพื่อประกอบการพิจารณาของ บอร์ดคปภ.ตามข้อสังเกตของที่ประชุม และเสนอต่อบอร์ด คปภ .อีกครั้งหนึ่งก่อนสรุปความเห็นเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อไป
ต่อมาในการประชุมบอร์ด คปภ. ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 สำนักงาน คปภ. ได้นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมและการวิเคราะห์ในเชิงลึกเกี่ยวกับแผนธุรกิจของบริษัททั้งด้านการกำกับดูแลกิจการ ด้านความสามารถในการขยายธุรกิจ ด้านความสามารถในการทำกำไร ด้านฐานะการเงินและความมั่นคงทางการเงิน ด้านความพร้อมของระบบการควบคุมภายในและบุคลากร ประเด็นความเสี่ยงต่างๆ แนวทางการตรวจสอบและติดตามของสำนักงานคปภ. ตลอดจนความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ฯลฯ ต่อที่ประชุมบอร์ดคปภ. ซึ่งได้มีการพิจารณาและอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในทุกมิติแล้ว มีมติเห็นชอบตามความเห็นของสำนักงานคปภ.ว่า บริษัทกมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้แก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงานตามคำสั่งนายทะเบียน ที่ 21/2558 ลงวันที่ 1 กันยายน 2558 ซึ่งออกตามความในมาตรา 52 ครบถ้วนแล้ว
ประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ การบันทึกหนี้สินได้ครบถ้วน อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเกินกว่าที่อัตรากฎหมายกำหนด และมีระบบงาน ระบบควบคุมภายในที่เพียงพอ มีบุคลากรที่พร้อมจะเปิดดำเนินธุรกิจ และมีคุณภาพในการให้บริการแก่ประชาชนและผู้เอาประกันภัย จึงเห็นควรให้ยุติการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทและอนุญาตให้บริษัทเปิดดำเนินการธุรกิจประกันวินาศภัยได้ตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป และให้นำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อโปรดทราบต่อไป
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงใหม่เกิดขึ้น กล่าวคือ ภายหลังที่ทางคปภ.มีหนังสือเสนอ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เพิกถอนใบอนุญาตของบริษัท ปรากฎว่าบริษัทมีการเพิ่มทุนเข้ามาในบริษัท โดยมีหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากรวม 150 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินและมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนร้อยละ 157.10
อีกทั้งบริษัทยังได้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทชุดใหม่ ปรับแผนธุรกิจใหม่ รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขระบบงานของบริษัทพร้อมจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานส่งให้สำนักงานคปภ.แล้ว โดยการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ สำนักงาน คปภ.ได้ทำอย่างรอบคอบตรงไปตรงมา โดยมีกระบวนการทำงานอย่างเข้มข้น รัดกุม และที่สำคัญมีข้อกฎหมายและข้อมูลต่างๆรองรับอย่างชัดเจน อีกทั้งยังผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการกลั่นกรองและเสนอแนะการใช้มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาบริษัทประกันภัยที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน หรือที่เรียกกันว่า “คณะกรรมการ ICU” ถึง 3 ครั้ง
รวมทั้งบอร์ดคปภ.เองก็ได้พิจารณากันอย่างละเอียดและซักถามข้อสงสัยต่างๆพร้อมให้สำนักงานคปภ.วิเคราะห์ในเชิงลึก โดยพิจารณาทั้งประเด็นข้อกฎหมายและประเด็นอื่นๆประกอบกันทั้งก่อนที่จะมีมติก็ได้ให้ข้อสังเกตไปปรับปรุงในหลายประเด็น ซึ่งก็ได้มีการดำเนินการครบถ้วนแล้ว
“แม้ว่าจะยุติการเพิกถอนใบอนุญาตฯของบริษัทและเห็นชอบให้บริษัทเปิดดำเนินธุรกิจได้แล้ว แต่สำนักงาน คปภ.จะยังคงติดตามการดำเนินงานของบริษัทอย่างใกล้ชิดต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีฐานะการเงินและการดำเนินงานที่มั่นคงน่าเชื่อถือ” ดร.สุทธิพล กล่าวในท้ายสุด
ข่าวเด่น