นายวิพล วรเสาหฤท รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ยอดการปล่อยสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 59) ขยายตัวได้ไม่ถึง 1% เนื่องจากมีการลงทุนน้อยและเอสเอ็มอีระมัดระวังการทำธุรกิจใหม่ เห็นได้จากการใช้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนลดลงไป 15% จากปีก่อน ซึ่งจะมีแค่เอสเอ็มอีบางกลุ่มเท่านั้น ที่ปรับตัวและเติบโตได้ เช่น กลุ่มธุรกิจค้าขายออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรแปรรูป และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล
ในส่วนของเอสเอ็มอีที่ยังมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจสูง เป็นกลุ่มเกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ผลไม้ พืชไร่ รวมถึงธุรกิจป้ายโฆษณาที่มีการโฆษณาลดลง และหันไปใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์แทน รวมทั้งยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ ที่ไม่เติบโตนักในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้น เพราะหลายๆ ธนาคารก็สามารถควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ซึ่งแตกต่างจาก 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ที่เอ็นพีแอล มีการขยับตัวขึ้นค่อนข้างมาก
แนวโน้มสินเชื่อเอสเอ็มอีในครึ่งปีหลังของปีนี้ คาดว่าจะเติบโตดีขึ้นกว่าเดิม เห็นได้จากทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว แต่จะขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปในบางกลุ่มธุรกิจเท่านั้น ทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีทั้งระบบตลอดปีนี้ขยายตัวได้ 3-4% แต่ในส่วนของไทยพาณิชย์ คาดว่าขยายตัวได้ 5-6% หลังจากไตรมาสแรกขยายตัว 1.5% มากกว่าตลาดที่ขยายตัว 0.4-0.5 %”
นายวิพล เปิดเผยว่า ธนาคารคาดว่าในครึ่งปีแรกของปีนี้จะปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีใหม่ได้ 5 หมื่นล้านบาท จากเป้าทั้งปีนี้ที่ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 80,000-100,000 ล้านบาท โดยในไตรมาส 1/59 ธนาคารปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มไปแล้ว 2.8 หมื่นล้านบาท
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ธุรกิจเอสเอ็มอีช่วงที่ผ่านมาถือว่าภาพรวมออกมาดีมาก หนี้เสียปรับตัวลดลงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ส่งผลให้หนี้เสียเอสเอ็มอีทั้งปีเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายแน่นอน การลดลงของหนี้เสียดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่ธนาคารเข้าไปดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
ข่าวเด่น