ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
หยิบเงินหยิบทอง - บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง


 


ตลาดหุ้นไทยวานนี้
         
SET INDEX วานนี้ บรรยากาศการลงทุนรอบเอเชียเป็นบวก อีกทั้งราคาน้ำมันดิบฟื้นตัว ทำให้ SET INDEX ขยับขึ้นทดสอบด่าน 1,450 จุด แต่ก็เกิดแรงขายทำกำไรมากขึ้น ปิด ณ สิ้นวัน SET INDEX อยู่ที่ 1,442.42 จุด ลบเล็กน้อย 1.00 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 45,947 ล้านบาท
ทั้งนี้ต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นวันที่ 4 เร่งขึ้นเป็น 1,790 ล้านบาท Long สุทธิใน SET50 Index Futures อีกครั้ง 740 สัญญา และซื้อสุทธิตลาดตราสารหนี้เป็นวันที่ 4 หนาแน่นถึง 32,197 ล้านบาท

ปัจจัยสำคัญวันนี้
          ผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี เริ่มทรงตัว เพิ่มขึ้นเป็นวันแรกในรอบ 4 วันทำการ เพียง 0.26bps ปิดที่ 2.139%
          น้ำมันดิบ NYMEX ปิดทะลุ US$50/barrel เป็น US$50.36/barrel ด้วยความกังวลต่อปริมาณน้ำมันในตลาดโลก
          ติดตามตัวเลขการส่งออกเดือนพ.ค. ของจีนวันนี้ Bloomberg consensus คาด -4.2% yoy
          ครม.อนุมัติร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว

มุมมองต่อตลาดวันนี้: กลาง (วันที่ 12)
         
วานนี้ SET INDEX ขยับขึ้นทดสอบด่าน 1,450 จุดระหว่างชั่วโมงการซื้อขาย และเกิดแรงขายทำกำไรมากขึ้น ซึ่งเรายังให้น้ำหนักของตลาดหุ้นไทยเป็นกลาง ด้วยภาพ Sideways-to-Sideways-Down สู่แนวรับ 1,430 จุด เป็นบริเวณที่ทำงานได้แข็งแกร่ง และเป็นการย่อปรับฐาน เพื่อเอาแรงก่อนไต่ระดับขึ้นทดสอบด่าน 1,450 จุด และทะลุในท้ายที่สุด เพราะหากประเมินจากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย / ตลาดตราสารหนี้ หนาแน่น และ ต่อเนื่อง น่าจะเป็นสัญญาณที่ดี อีกทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดน่าจะตกในเดือนก.ค. ทำให้มีเม็ดเงินระยะสั้นเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นเอเชียเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทย
         
เพียงแต่ในช่วงนี้ Valuation ของตลาดหุ้นไทยตึงตัวมากๆ บวกกับปัจจัยทางเทคนิกที่ส่งสัญญาณพักฐานเช่นกัน ทำให้นักลงทุนต่างระมัดระวังต่อการไล่ราคาหุ้นหลักขึ้นไป แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่าง NYMEX ปิดทะลุ US$50/barrel สู่ด่าน US$50-55/barrel ก็ตาม แต่เรากลับเชื่อว่าผู้ผลิต Shale oil มีโอกาสกลับมาผลิตน้ำมันป้อนสู่ตลาดอีกครั้ง 
         
ประเมินว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะกลับมาปรับฐานและแกว่งออกด้านข้างในสัปดาห์หน้า เพื่อรอดูผลการประชุมเฟดในวันที่ 14-15 มิ.ย. คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และนำไปสู่ Sell on Fact จากผลการประชุมดังกล่าว
         
ดังนั้นกลยุทธ์ช่วงนี้ เรายังคงแนะนำให้เก็งกำไรหุ้นที่เป็น Laggard หรือยัง Underperform เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่ม ด้วยวงเงินที่จำกัด ประเมินกรอบแกว่ง 1,435-1,450 จุด

Stock Pick of The Day          
          1. เก็งกำไร IVL : ราคาปิด 33.00 บาท ราคาเหมาะสม 38.50 บาท
          a)          MBKET คาดว่าหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี จะ Outperform ตลาดในวันนี้ หลังราคาน้ำมันดิบ NYMEX ปิดเหนือระดับ US$50.00/barrel เป็น US$50.36/barrel ทำระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน 
          b) คาดกำไรสุทธิ 2Q59 จะทำระดับสูงสุดของปีที่ 4,100 – 4,800 ล้านบาท โดยกำไรจากการดำเนินงานปกติคาดว่าจะเติบโตถึง +96% qoq เป็น 2,200 ล้านบาท และพลิกกลับจากขาดทุนใน 2Q58 นอกจากนั้น ยังจะมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการเข้าซื้อ Cepsa ในสเปนอีก 1,500 - 2,000 ล้านบาทช่วยหนุนกำไรสุทธิ
          c) คงมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของกำไรในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยคาดว่ากำไรปกติจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลให้กำไรสุทธิปี 2561 แตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท เป็น 11,104 ล้านบาท จากปี 2559 ที่ 6,994 ล้านบาท           
          2. เก็งกำไร KTB : ราคาปิด 17.30 บาท ราคาเหมาะสม 20.00  บาท 
          a) MBKET คงมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใน 2H59 และเชื่อว่าจะเป็นหุ้นกลุ่มหลักที่ได้ประโยชน์จากการไหลเข้าของเม็ดเงินต่างชาติ
          b) ราคาหุ้น KTB ยัง Laggard โดย YTD เพิ่มขึ้น +3.5% เทียบกับ SET BANK +12.7% และหุ้นธนาคารใหญ่ ได้แก่ BBL +8.2%, KBANK +17.2%, SCB +19.6% และ BAY +23.5% 
          c) ได้ประโยชน์สูงสุดจากแผนลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐฯ เนื่องจากมีสัดส่วนการปล่อยกู้โครงการภาครัฐในสัดส่วนสูง และ Valuation ยังถูก ซื้อขายระดับ PER2559 เพียง 7.5 เท่า ต่ำที่สุดในหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ และค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารที่ 9.3 เท่า รวมทั้งให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลในเกณฑ์ดีราว 5% ต่อปี 

Fund Flow Analysis

Fund Flow in Emerging Markets
ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 10 เร่งขึ้นเป็น US$886 ล้าน จากวันก่อนหน้าซื้อ

Foreign Investors Action วานนี้
ต่างชาติซื้อสุทธิตลาดตราสารหนี้อย่างหนาแน่น
         
นักลงทุนต่างชาติคงการซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นวันที่ 4 เร่งขึ้นเป็น 1,790 ล้านบาท รวม 4 วันทำการ ซื้อสุทธิ 9,178 ล้านบาท และทำให้ YTD ต่างชาติซื้อสุทธิขยับขึ้นเป็น 26,865 ล้านบาท
         
ด้าน SET50 Index Futures นักลงทุนกลุ่มนี้กลับมา Long สุทธิอีกครั้ง เพียงเล็กน้อย 740 สัญญาเท่านั้น เพราะ S50M16 ปิดสูงกว่า SET50 Index เป็นวันที่ 4 เท่ากับ 2.28 จุด ใกล้เคียงกับวันก่อนหน้าที่ Premium เท่ากับ 2.60 จุด ทำให้ยอดสุทธิ QTD สถานะคงการ Long สุทธิยังคงยืนเหนือ 35,000 สัญญา เป็น 37,742 สัญญา  
         
และนักลงทุนกลุ่มนี้คงการซื้อสุทธิตลาดตราสารหนี้เป็นวันที่ 4 มากถึง 32,197 ล้านบาท รวม 4 วันทำการซื้อสุทธิ 38,673 ล้านบาท ขณะที่ราคาพันธบัตรไทยเริ่มทรงตัว โดยพันธบัตรไทย อายุ 10 ปี ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็นวันแรกในรอบ 4 วันทำการ เพียง 0.26bps จากวันก่อนหน้าลดลงมากถึง 10.19bps ปิดที่ 2.139%  

Short-Selling วานนี้ 
เร่งขึ้นเป็น 805 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าเพียง 381 ล้านบาท           

NVDR Movement
NVDR ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 17 โดยเน้นสะสมหุ้น SCB – CPALL เกือบครึ่ง
          การซื้อขายผ่าน NVDR คงการซื้อสุทธิเป็นวันที่ 17 และเร่งขึ้นเป็น 3,635 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 2,464 ล้านบาท รวม 17 วันทำการซื้อสุทธิ 24,363 ล้านบาท โดยเน้นการสะสมกลุ่มธนาคารอย่างโดดเด่น ตามมาด้วยกลุ่มหลักอื่นๆ ของตลาดหุ้นไทย

ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ – การเงินรายภูมิภาค

สหรัฐอเมริกา
          ไม่มี

ยุโรป
          ผลผลิตภาคอุตฯ เยอรมันฟื้นตัวเดือนเม.ย.: เพิ่มขึ้น 0.8% mom จาก -1.1% mom เดือนมี.ค. และดีกว่า Bloomberg consensus ที่คาด +0.7% mom ทั้งนี้บรรยากาศของเอกชนดูสดใสในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ส่งผลให้ภาคการผลิตมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในระดับปานกลางต่อเนื่อง การผลิตสินค้าเพื่อการลงทุน เพิ่มขึ้นถึง 2.2% mom เป็นการฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ภาคการผลิต เพิ่มขึ้น 1.1% mom แต่การก่อสร้างกลับหดตัว 1.7% mom
          เศรษฐกิจอียูขยายตัวดีกว่าคาด: เติบโต 0.6% qoq  ดีกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ 0.5% qoq เป็นผลจากการบริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น ช่วยทำให้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในอียู รวมถึงภาคการส่งออก 

จีน          
          ธนาคารกลางจีนประเมินเฟดขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นบวกต่อเศรษฐกิจจีน: เพราะจะเป็นการส่งสัญญาณว่าความต้องการมีการฟื้นตัว และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ธนาคารกลางจีนจะเน้นการปรับปรุงการสื่อสารด้านนโยบายการเงิน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
          OCBC คาดค่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงอีกในช่วงปลายปี: โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเงินหยวนเข้าคำนวณในตะกร้าเงิน เนื่องจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากการปรับนโยบายการเงินให้มีความเข้มงวดมากขึ้น  ทางการจีนเตรียมใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ กำหนดค่าเงินหยวนจากตะกร้าเงินที่มีสกุลเงินการค้ากับจีน 13 สกุลเงิน 

เอเชียแปซิฟิก
          ธนาคารกลางออสเตรเลียคงอัตราดอกเบี้ย: คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% สอดคล้องกับ Bloomberg consensus คาดการณ์ไว้ ธนาคารกลางไม่เห็นถึงความเสี่ยงที่มีนัยยะสำคัญต่อกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ รวมถึงอัตราการว่างงานในระยะสั้น 
          
ธนาคารกลางอินเดียคงอัตราดอกเบี้ย: เท่ากับ 6.5% เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ต่อเนื่อง พร้อมส่งสัญญาณอาจลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี หากภาวะมรสุมส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร และราคาอาหาร 
          
เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตดีกว่าการประเมินครั้งก่อน: ขยายตัว 1.9% สำหรับใน 1Q59 เท่ากับที่ Bloomberg Consensus ประเมิน แต่ดีกว่าตัวเลขที่ประเมินครั้งแรกที่ +1.7% เป็นผลจากการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนของธุรกิจที่ +0.6% และ -0.7% ตามลำดับ ดีกว่าที่ประเมินไว้ที่ +0.5% และ -1.4% 

ไทย
         
 กกร.คงเป้า GDP ปีนี้ 3.0-3.5% แนะจับตาส่งออก: ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย. 59 ยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงส่งหลักมาจากปัจจัยเดิมก็คือ ภาคบริการการท่องเที่ยว และการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล ส่วนปัจจัยที่น่ากังวลคือตัวเลขการส่งออกที่กลับมาหดตัวอีกครั้ง รวมถึงการบริโภคในประเทศที่แม้จะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากยอดขายรถยนต์ที่กลับมาเป็นบวก แต่ยังถูกกดดันจาดรายได้เกษตรกรที่ยังอ่อนแอและการระมัดระวังการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน สำหรับภาพรวม 2Q59 น่าจะใกล้เคียงกับ 1Q59 ที่ขยายตัว 3.2% โดยยังคงต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนและอาเซียน ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของการส่งออก รวมทั้งการลงประชามติของสหราชอาณาจักรเรื่องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ส่วนในฝั่งสหรัฐฯต้องติดตามท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อไหร่ ภาพรวมปีนี้ยังคงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ระดับ 3-3.5% โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือสถานการณ์การส่งออกที่เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 0-2% และความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ

 
 
บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด ประจำวันที่ 8 มิ.ย. 2559
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 มิ.ย. 2559 เวลา : 10:21:50

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:19 pm