พาณิชย์เห็นลู่ทางการค้าการลงทุนไทยอนาคตสดใส หวังเพิ่มโอกาสทางการค้ากับเมียนมา และ สปป.ลาว เดินหน้าลุยดันเมียนมาเป็นประตูเชื่อมโยงไปยังตลาดบังคลาเทศ อินเดีย และจีน เร่งเครื่องผลักดันการค้าระหว่างไทย - สปป. ลาว ภายหลังปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จสุดๆ ด้วยยอดการค้าขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 25 % ปริมาณการค้าแตะระดับ 1.8 แสนล้านบาท
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการประเมินโอกาส และลู่ทางการค้า การลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า สปป.ลาว และเมียนมา มีศักยภาพและโอกาสที่น่าลงทุนมาก ในส่วนของสปป.ลาวนั้น ต้องยอมรับว่าบทบาทด้านการค้าทวีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ โดยปัจจุบัน สปป.ลาวเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 3 ของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ (CLMV: เวียดนาม กัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมา) โดยมีมูลค่าส่งออกระหว่างประเทศของไทยไป สปป. ลาวพุ่งแตะที่ระดับ 1.8 แสนล้านในปี 2558 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 25 ต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้วยปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจ สปป.ลาวในช่วง 2553 – 2558 ที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.8 ต่อปี และในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ต่อปี ซึ่งทำให้ประชาชนลาวมีรายได้สูงขึ้น ขณะที่การผลิตสินค้าใน สปป.ลาว ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่ขยายตัวสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาดสินค้า นอกจากนี้ สปป.ลาว ถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยเป็นระยะทาง ประมาณ 1,800 กิโลเมตร หรือครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด ทำให้เอื้อต่อการขนส่งสินค้าผ่านทางการค้าชายแดน และการคมนาคมขนส่งระหว่างไทย และ สปป.ลาวมีแนวโน้มคล่องตัวมากขึ้น ด้วยการเปิดใช้เส้นทางคมนาคมใหม่ๆ ระหว่างไทย และ สปป. ลาว โดยไทย และ สปป. ลาวได้เปิดสะพานมิตรภาพเชื่อมโยงระหว่างกันถึง 5 แห่ง ได้แก่ สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 1 เชื่อมระหว่างจังหวัดหนองคาย - นครหลวงเวียงจันทน์ สะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 2 เชื่อมระหว่างจังหวัดมุกดาหาร กับแขวงสะหวันนะเขต สะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 3 เชื่อมระหว่างจังหวัดนครพนม กับแขวงคำม่วน สะพานข้ามแม่น้ำเหือง เชื่อมระหว่างอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย กับแขวงไชยบุรี และสะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 4 เชื่อมระหว่าง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กับแขวงบ่อแก้ว
“สินค้าของไทยที่ได้รับความนิยมในการอุปโภคบริโภคของชาวลาว ซึ่งถือว่าเป็นที่ต้องการหลัก และเป็นโอกาสในการส่งออกของไทย ได้แก่ สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ผงชูรส สินค้าประเภทน้ำตาล น้ำปลา กะปิ น้ำมันพืช ซอสปรุงรส สินค้าอุปโภคที่จำเป็น อาทิ สบู่ แชมฟู ยาสีฟัน ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม รวมถึงรองเท้า และผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ อาทิ ครีมบำรุงผิวที่มีสรรพคุณช่วยให้ผิวหน้าแลดูอ่อนกว่าวัย ช่วยลบเลือนริ้วรอย ให้ผิวหน้ากระจ่างใส รวมถึงครีมกันแดด เป็นต้น” นางอภิรดีกล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวต่อไปว่า เมียนมาเป็นประตูเชื่อมโยงไปยังตลาดอินเดีย บังคลาเทศ และจีนซี่งเมียนมาถือว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวและเป็นตลาดการค้าที่สำคัญของไทยนอกจากนี้ เมียนมาได้มีการตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการลงทุนถึง 3 แห่งด้วยกัน ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ KYAUKPYU ในรัฐ RAKHENE ทางทิศตะวันตกของเมียนมา เขตเศรษฐกิจพิเศษ THILAWA ตอนใต้ของนครย่างกุ้ง และเขตเศรษฐกิจพิเศษ DAWEI มณฑลตะนาวศรีของเมียนมา
เขตเศรษฐกิจพิเศษ KYAUKPYU ในรัฐ RAKHENE ทางทิศตะวันตกของเมียนมา มีขนาดพื้นที่โครงการ 19.51 ตารางกิโลเมตร วงเงินลงทุน 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีท่าเรือน้ำลึก 2 Terminal บนพื้นที่ 1,500 ไร่ สามารถขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ปีละ 4.9 ล้านตู้ มีนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ 1,100 ไร่ สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น นิคมอุตสาหกรรมประมง โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561 สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ THILAWA ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของนครย่างกุ้งประมาณ 25 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 15,000 ไร่ ซึ่งจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2560
อุตสาหกรรมที่ลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจแห่งนี้จะเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมโรงงานที่มีความเข้มข้น และอุตสาหกรรมไฮเทค โดยปัจจุบันมีบริษัทที่สนใจเข้าไปลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ THILAWA จำนวน 41 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทไทยรวมอยู่ด้วย 3 บริษัท และเขตเศรษฐกิจพิเศษ DAWEI อยู่ห่างจากนครย่างกุ้ง 600 กิโลเมตร และห่างจากชายแดนไทยที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านน้ำพุร้อน จังหวัดกาญจนบุรี 132 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพ ฯ 350 กิโลเมตร มีขนาดพื้นที่โครงการประมาณ 177,500 ไร่ ถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา มีวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 400,000 ล้านบาท คาดว่าโครงการระยะแรกของเขตเศรษฐกิจพิเศษ DAWEI จะแล้วเสร็จในปี 2561 ซึ่งเมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมาทั้งสามแห่งแล้วเสร็จสมบูรณ์จะทำให้เมียนมา สามารถพลิกเป็นประเทศศูนย์กลางการผลิตสินค้า และบริการเพื่อป้อนให้แก่ประเทศต่างๆได้
ข่าวเด่น