หยิบเงินหยิบทอง - บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง
ตลาดหุ้นไทยวานนี้
SET INDEX วานนี้ เริ่มปรับฐาน ด้วยบรรยากาศรอบเอเชียที่เกิดแรงขายทำกำไร บวกกับสัญญาณทางเทคนิก และ Valuation ของตลาดหุ้นไทยที่ตึงตัว กลุ่มหลักปรับฐานลง อย่างไรก็ตาม เกิด Technical rebound ช่วงท้ายตลาด ปิดสิ้นวัน SET INDEX บวก 3.12 จุด มาอยู่ที่ 1,445.54 จุด มูลค่าการซื้อขาย 41,862 ล้านบาท
ทั้งนี้ต่างชาติซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นวันที่ 5 อีก 1,320 ล้านบาท ซื้อสุทธิตลาดตราสารหนี้เป็นวันที่ 5 หนาแน่นต่อเนื่องอีก 13,032 ล้านบาท แม้ว่า Short สุทธิใน SET50 Index Futures อีกครั้ง 5,289 สัญญา ก็ตาม
ปัจจัยสำคัญวันนี้
ตลาดหุ้นจีน และฮั่งเส็งปิดทำการวันนี้ ส่วนตลาดหุ้นจีนจะปิดทำการในวันศุกร์อีก 1 วัน
น้ำมันดิบ NYMEX ทำระดับปิดสูงสุดใหม่ของปี 2559 ที่ US$51.23/barrel ปริมาณสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3
รองนายกฯ ดร.สมคิด ยืนยันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม – เหลือง – ชมพู จะเปิดประมูลในเดือนนี้
มุมมองต่อตลาดวันนี้: กลาง (วันที่ 13)
เราประเมินกรอบแกว่งของ SET INDEX ระหว่าง 1,435-1,450 จุด เพราะหากพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ มีเพียงความโดดเด่นเพียงราคาน้ำมันดิบที่ยังคงขยับขึ้น ทั้งความกังวลด้านอุปทาน และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง แต่ก็ดูขัดกับภาพรวมเศรษฐกิจที่ World Bank ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเป็น 2.4% จากเดือนม.ค.ที่คาด 2.9% ทำให้การไต่ระดับของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เหนือ US$50/barrel เป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวัง
ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นไทย บวกกับ สัญญาณทางเทคนิกยังไม่เห็นการกลับตัวมาเป็นบวกที่เด่นชัด และมากพอที่จะผลักดันให้ SET INDEX ทะลุ 1,450 จุดได้ เรากลับมองว่าช่วงนี้จะเกิด Sector Rotation ระหว่างกลุ่มหลักๆ เพื่อประคองภาพ SET INDEX ไม่ให้ปรับฐานลงเร็ว
เรามองว่ากลุ่มรับเหมาก่อสร้าง / กลุ่มวัสดุก่อสร้าง มีแนวโน้มฟื้นตัว หลังพักฐานมาเกือบสัปดาห์ ด้วยประเด็นที่ รองนายกฯ ดร.สมคิด ยืนยันเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้า 3เส้นทาง ส้ม – เหลือง – ชมพู ภายในเดือนมิ.ย.
ดังนั้นกลยุทธ์ช่วงนี้ เราแนะนำให้เก็งกำไรกลุ่มรับเหมา / ขนส่ง ด้วยวงเงินที่จำกัด ประเมินกรอบแกว่ง 1,435-1,450 จุด
Stock Pick of The Day
1. เก็งกำไร CK : ราคาปิด 27.00 บาท ราคาเหมาะสม 34.00 บาท
a) MBKET เชื่อว่าหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างจะตอบรับเชิงบวก หลังวานนี้ รองนายกฯ สมคิด กล่าวในงาน “อนาคตไทยกับทศวรรษใหม่แห่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน” ว่าจะมีการอนุมัติแผนลงทุนรถไฟฟ้า 3 เส้นทาย ภายในเดือน มิ.ย.
b) คงมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจาก Backlog เข้าสู่ทิศทางการเติบโตอย่างชัดเจนในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐฯ
c) ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง นอกจากจะมีจุดเด่นในการรับงานขนาดใหญ่ของภาครัฐฯและการถือหุ้นใน 3 บริษัทร่วม คือ BEM, TTW, CKP จะเปิดโอกาสให้ CK ได้งานเพิ่มเติมจากบริษัทลูกอย่างต่อเนื่องในอนาคตจากธุรกิจที่สนับสนุนกัน และ Downside Risk จำกัด เนื่องจาก NAV จากการถือหุ้นใน 3 บริษัทดังกล่าว คิดเป็นมูลค่า 23.60 บาทต่อหุ้น
2. เก็งกำไร SAMTEL : ราคาปิด 14.60 บาท ราคาเหมาะสม 16.50 บาท
a) MBKET คาดราคาหุ้นจะฟื้นตัว หลังว่างเว้นและไม่ได้งานขนาดใหญ่เลยตั้งแต่ 4Q15 แต่จากการประชุมกับผู้บริหารล่าสุด เชื่อว่า SAMTEL มีโอกาสได้งานขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 โครงการในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ได้แก่ 1.งานต่อสัญญา Portal Net มูลค่า 2.5 พันล้านบาท และงาน Schoolnet มูลค่า 1.2 พันล้านบาท
b) งานประมูลขนาดใหญ่ภาครัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับงานวางระบบสื่อสารจะเริ่มเข้าสู่ระบบใน 2H59 และเป็นปัจจัยผลักดันกระตุ้นหุ้นกลุ่ม SI ได้แก่ งานกระทรวงศึกษา 3.5 พันล้านบาท และ Broadband หมู่บ้าน มูลค่าสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท
c) คาดกำไรสุทธิได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในปี 2558 ที่ผ่านมา และจะเข้าสู่การฟื้นตัวในปี 2559 เติบโต +26.4% yoy เป็น 509 ล้านบาท และมี Upside Risk ต่อประมาณการกำไรปี 2560 หากชนะงานประมูลขนาดใหญ่ในช่วงที่เหลือของปีจะช่วยต่อยอด Backlog ให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 8 พันล้านบาท
Fund Flow Analysis
Fund Flow in Emerging Markets
ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 11 เท่ากับ US$747 ล้าน จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ
Foreign Investors Action วานนี้
ต่างชาติซื้อสุทธิตลาดตราสารหนี้หนาแน่นต่อเนื่อง
นักลงทุนต่างชาติคงการซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นวันที่ 5 อีก 1,320 ล้านบาท รวม 5 วันทำการ ซื้อสุทธิ 10,498 ล้านบาท และทำให้ YTD ต่างชาติซื้อสุทธิขยับขึ้นเป็น 28,185 ล้านบาท
ด้าน SET50 Index Futures นักลงทุนกลุ่มนี้กลับมา Short สุทธิอีกครั้ง 5,289 สัญญา คาดว่าจะเป็นการทยอยปิดสถานะ Long ที่เปิดไว้ก่อนหน้านี้ เพราะ S50M16 ปิดสูงกว่า SET50 Index เป็นวันที่ 5 เร่งขึ้นเป็น 2.67 จุด จากวันก่อนหน้า Premium เท่ากับ 2.28 จุด ทำให้ยอดสุทธิ QTD สถานะคงการ Long สุทธิหลุด 35,000 สัญญา เป็น 32,453 สัญญา
แต่นักลงทุนกลุ่มนี้คงการซื้อสุทธิตลาดตราสารหนี้เป็นวันที่ 5 สูงถึง 13,032 ล้านบาท รวม 5 วันทำการซื้อสุทธิ 51,705 ล้านบาท ขณะที่ราคาพันธบัตรไทยเริ่มทรงตัวเป็นวันที่ 2 โดยพันธบัตรไทย อายุ 10 ปี ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็นวันที่ 2 อีก 0.77bps จากวันก่อนหน้าเพิ่มขึ้นเพียง 0.26bps ปิดที่ 2.147%
Short-Selling วานนี้
ขยับขึ้นเป็นวันที่ 2 เป็น 1,035 ล้านบาท จากวันก่อนหน้า 805 ล้านบาท
NVDR Movement
NVDR ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 18 หมุนกลับมาเน้นสะสมกลุ่ม ICT – พลังงาน
การซื้อขายผ่าน NVDR คงการซื้อสุทธิเป็นวันที่ 18 อีก 2,050 ล้านบาท ชะลอตัวจากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิมากถึง 3,635 ล้านบาท รวม 18 วันทำการซื้อสุทธิ 26,413 ล้านบาท โดยทำ Sector Rotation มายังกลุ่ม ICT – พลังงาน เป็นหลัก
ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ – การเงินรายภูมิภาค
สหรัฐอเมริกา
ไม่มี
ยุโรป
ผลผลิตภาคอุตฯ เยอรมันฟื้นตัวเดือนเม.ย.: เพิ่มขึ้น 0.8% mom จาก -1.1% mom เดือนมี.ค. และดีกว่า Bloomberg consensus ที่คาด +0.7% mom ทั้งนี้บรรยากาศของเอกชนดูสดใสในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ส่งผลให้ภาคการผลิตมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในระดับปานกลางต่อเนื่อง การผลิตสินค้าเพื่อการลงทุน เพิ่มขึ้นถึง 2.2% mom เป็นการฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ภาคการผลิต เพิ่มขึ้น 1.1% mom แต่การก่อสร้างกลับหดตัว 1.7% mom
จีน
ตัวเลขส่งออกจีนหดตัวตามที่ตลาดคาด: ส่งออกเดือนพ.ค. หดตัว 4.1% yoy สอดคล้องกับที่ Bloomberg consensus คาด ส่วนการนำเข้า ลดลงเพียง 0.4% yoy ต่ำกว่า Bloomberg consensus คาดหดตัว 6.8% yoy ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล US$5.0 หมื่นล้าน ต่ำกว่า Bloomberg consensus คาดเกินดุล US$5.56 หมื่นล้าน
เอเชียแปซิฟิก
ธนาคารโลกปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเหลือ 2.4%: ธนาคารโลกเปิดเผยในรายงาน "Global Economic Prospects" โดยระบุว่า GDP ทั่วโลกจะขยายตัว 2.4% ในปีนี้ ลดลง 0.5% จากคาดการณ์เดือนม.ค. โดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มขยายตัว 3.5% ในปี 2559 ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนม.ค. ส่วนเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จะขยายตัว 1.7% ในปีนี้ ลดลง 0.5% จากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนม.ค. เช่นกัน สำหรับการคาดการณ์เป็นรายประเทศนั้น ธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐลง 0.8% สู่ระดับ 1.9% และลดคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นลง 0.8% สู่ระดับ 0.5% ในปีนี้ เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 6.7% ในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวแข็งแกร่งถึง 7.6% แต่เศรษฐกิจบราซิลและรัสเซียจะหดตัวลง 4% และ 1.2% ตามลำดับ
เกาหลีใต้เตรียมจัดตั้งกองทุนขนาดใหญ่เพื่อใช้ปรับโครงสร้าง: โดยเฉพาะอุตฯ หลักของประเทศ อย่างการเดินเรือ และการต่อเรือ โดยรัฐบาล และ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ เตรียมจัดตั้งกองทุนขนาด 11 ล้านล้านวอน (US$9.5 พันล้าน) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. และจะเดินหน้าไปจนถึงสิ้นปี 2560 การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งนี้ เพื่อให้อุตฯ ที่มีปัญหา ภายใต้ระดับหนี้ที่สูง และการหาธุรกิจใหม่ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
อินโดนีเซียปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงเป็น 5.1%: จากเดิม 5.3% เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัว การส่งออก รวมถึงการลงทุนภาคเอกชน ไม่เร่งตัวมากพอ และแนวโน้มการจัดเก็บภาษีที่ต่ำกว่าคาด สร้างภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องปรับสมมติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่
ธนาคารกลางนิวซีแลนด์คงอัตราดอกเบี้ย: อัตราดอกเบี้ย 2.25% ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยคาดหวังอัตราเงินเฟ้อจะทยอยขึ้นในอัตราเร่ง และนำไปสู่เป้าในระยะกลางที่ 1.3% ขณะที่ธนาคารกลางเริ่มกังวลกับราคาบ้านที่สูงขึ้น
ธนาคารกลางเกาหลีใต้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสวนทางคาด: ลดลง 25 bps อยู่ที่ 1.25% จากเดิมที่ 1.50% ขณะที่ Bloomberg Consensus ประเมินว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ หลังรัฐบาลออกกองทุนเพื่อการปรับโครงสร้างของบริษัท ทำให้ธนาคารกลางกังวลต่ออัตราการว่างงาน รวมไปถึงการลงทุนที่ลดลง อีกทั้งเศรษฐกิจที่ยังไม่แข็งแกร่งจากภาคส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 หนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นทำระดับสูงสุดใหม่ใน 1Q59 ที่ผ่านมา
ไทย
ธปท.เผย IMF มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป: ธปท. เปิดเผยผลสรุปการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2559 ของ IMF ว่า ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวได้ที่ 3% และจะขยายตัวได้ 3.2% ในปี 2560 ซึ่งยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ใน ASEAN และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอดีต
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากผลของราคาน้ำมันที่ลดลงมากในช่วงที่ผ่านมาทยอยหมดไป แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของ ธปท.จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำตามอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ ส่วนความท้าทายในระยะต่อไป (headwinds) มาจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย และข้อจำกัดของโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นอุปสรรคต่อศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานที่เข้มแข็งช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถเผชิญกับความท้าทายต่างๆ จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกได้ โดยเงินสำรองระหว่างประเทศและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูง และหนี้ต่างประเทศมีสัดส่วนต่ำ จะช่วยรองรับผลกระทบจากความอ่อนแอและความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก
โดย บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด ประจำวันที่ 9 มิ.ย. 2559
ข่าวเด่น