กรมการจัดหางาน ย้ำนายจ้างรีบนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่อยู่ในกลุ่มตามมติครม.วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 มารายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ เท่านั้น หากพ้นกำหนดจะตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ถ้าพบการทำผิด นายจ้างจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย มีโทษปรับสูงสุดถึง 100,000 บาทต่อการจ้างแรงงานต่างด้าวหนึ่งคน
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากการที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้เปิดให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ตามมติครม.เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 คือ
1.กลุ่มที่จดทะเบียน (บัตรชมพู) ตามนโยบาย คสช. เมื่อปี 2557 2.กลุ่มที่มีบัตรชมพูซึ่งจะครบกำหนด ในวันที่ 31 มีนาคม 2559 3.ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี และ 4.กลุ่มที่มีเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทางชั่วคราว/เอกสารรับรองบุคคลของประเทศต้นทาง 3 สัญชาติซึ่งกำลังจะหมดอายุ โดยยกเว้นไม่รวมแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่เข้ามาทำงานในรูปแบบ MOUและที่จดทะเบียนในกิจการประมงทะเล และแปรรูป สัตว์น้ำที่ผ่านมา สามารถไปรายงานตัวเพื่อขออนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน โดยนำใบรับรองแพทย์และบัตรสีชมพูหรือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ไปชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน ณ เคาน์เตอร์เซอร์วิส(Counter Service) รวมทั้งสิ้น 1,910 บาท แบ่งเป็นค่ายื่นคำขออนุญาตทำงาน จำนวน 100 บาท ค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน 2 ปี จำนวน 1,800 บาท ค่าบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส 10 บาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน หรือชำระที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 ในเขตท้องที่ที่แรงงานต่างด้าวไปจดทะเบียนและขออนุญาตทำงาน
จากนั้นจึงจัดเตรียมเอกสารคำขออนุญาตทำงาน (ตท.8) สัญญาจ้างงาน บัตรสีชมพูหรือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ไปดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์ OSS ตามวันและเวลาที่ระบุไว้ในตอนท้ายของใบนัด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 6 มิถุนายน 2559 ปรากฏว่ามีแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา มายื่นขออนุญาตทำงาน (บัตรสีชมพู) จำนวน 455,642 คน (แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา จำนวน 255,167 คน ลาว จำนวน 29,358 คน กัมพูชา จำนวน 171,117 คน)
นายอารักษ์ กล่าวต่อว่า ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการรีบนำแรงงานต่างด้าวหรือแรงงาน ต่างด้าวมารายงานตัวด้วยตนเองเพื่อขอรับบัตรใหม่ภายวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 นี้ หากพ้นกำหนดแล้วกรมการจัดหางานจะลงพื้นที่ตรวจสอบนายจ้าง สถานประกอบการและการทำงานของแรงงานต่างด้าวอย่างเคร่งครัด หากพบการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 นายจ้างจะมีโทษปรับสูงสุดถึง 100,000 บาทต่อการจ้างแรงงานต่างด้าวหนึ่งคน ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบทํางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมี โทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 - 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่1-10 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
ข่าวเด่น