กระทรวงพาณิชย์มั่นใจโอกาสตลาด CLMV ยังสดใส หลังมกราคม – เมษายน 2559 ตัวเลขยอดการค้าพุ่งกว่า 350,000 ล้านบาท เดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการไทยทำธุรกิจการค้ากับประเทศ CLMV สามารถใช้บริการข้อมูลและคำปรึกษาจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ ในทั้ง 4 ประเทศ พร้อมมีแผนสร้างเครือข่ายและนำคณะนักธุรกิจไทยเดินทางเยือน CLMV เพื่อขยายลู่ทางการค้าการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศ CLMV อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 (เดือนมกราคม - เดือนเมษายน) ว่า มีมูลค่าการค้าสูงถึง 353,314 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.73 โดยประเทศที่มีมูลค่าการค้ากับไทยสูงสุดเรียงตามลำดับ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ตามลำดับ
“ประเทศ CLMV ถือได้ว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่การค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป มีอัตราการขยายตัวลดลง แต่การค้าระหว่างไทยกับ ประเทศ CLMV กลับมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยสามารถใช้โอกาสจากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการเป็นกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เอเชีย ขยายการค้าของไทยกับกลุ่ม CLMV ให้เพิ่มสูงขึ้นได้ รวมถึงความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าของผู้บริโภคในกลุ่ม CLMV ทำให้โอกาสของสินค้าและธุรกิจบริการของไทยเปิดกว้างอย่างมากในตลาด CLMV” นางอภิรดีกล่าว
นางอภิรดีกล่าวต่อไปว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการแสวงหาโอกาสทางการค้ากับประเทศ CLMV ด้วยการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รุ่นที่ 2 (Yen- D Program Season 2) รวมถึงการจัดคณะภาครัฐ และเอกชนไทยเดินทางเยือนประเทศ CLMV เพื่อแสวงหาโอกาสการค้า และการลงทุนใหม่ๆ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าไปดำเนินธุรกิจในกลุ่ม CLMV สามารถใช้บริการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ที่เปิดให้บริการอยู่แล้วใน 4 ประเทศ โดยนอกเหนือจากการให้บริการข้อมูลคำปรึกษาด้านการตลาด การลงทุน กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ยังให้บริการประสานนัดหมายทางธุรกิจด้วย
“สำหรับจุดเด่นของแต่ละประเทศนั้น ที่ผ่านมาเวียดนามให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก ในปีที่ผ่านมา เวียดนามมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศราว 828,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เวียดนามยังได้เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เวียดนามมีศักยภาพในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนไทยอาจใช้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิก TPPของเวียดนามในการเข้าไปลงทุนเองหรือเข้าร่วมลงทุนกับนักธุรกิจเวียดนามเพื่อลดต้นทุนทางภาษี และใช้สิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ สำหรับกัมพูชาถือเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นลำดับต้นๆของโลก และของภูมิภาค โดยปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกัมพูชาคือการส่งออกเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่ยังขยายตัวได้ดีจากการที่กัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางด้าน GSP การเติบโตของการท่องเที่ยว การเกษตร อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง ลู่ทางการลงทุนที่มีศักยภาพได้แก่ โลจิสติกส์ การผลิตเสื้อผ้า รองเท้า การค้าผ่านแดน บริการท่องเที่ยว/ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และร้านอาหาร เป็นต้น
สปป.ลาว มีประชากรราว 6.8 ล้านคน และในปี 2559 คาดว่าแนวโน้มรายได้ของประชากรต่อคนจะมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 8 โดยเมืองสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยควรจะให้ความสำคัญในการเข้าไปเจาะตลาด ได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์ เนื่องจากเป็นเมืองหลวงและมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก รองลงมาคือ แขวงหลวงพระบางซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ สปป.ลาว และอันดับ 3 คือ แขวงจำปาสัก ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางตอนใต้ของ สปป.ลาว สำหรับเมียนมา แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรน้อยที่สุดในอาเซียน แต่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก อีกทั้งมีศักยภาพสูงด้านเกษตรกรรมและประมง รวมทั้งค่าจ้างแรงงาน ที่ถูกกว่าประเทศอื่นๆ ล้วนเป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ พื้นที่ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดสินค้าไทยคือ เนปิดอร์ ตองยี มะริด พะสิม ซึ่งเป็นเมืองที่มีแนวโน้มชัดเจนว่าจะเติบโตขึ้นในในอนาคต” นางอภิรดีกล่าว
ข่าวเด่น