กรมควบคุมโรค เตือนเกษตรกรลุยน้ำช่วงทำนาระวังโรคฉี่หนู เผยเฉพาะหน้าฝน 4 เดือนของปีที่แล้ว พบผู้ป่วยเกือบ 1,000 ราย เสียชีวิต 23 ราย ทั้งผู้ป่วยและเสียชีวิตคิดเป็นครึ่งหนึ่งของทั้งปี 58
วันนี้ (10 มิถุนายน 2559) นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูทำนาแล้ว กรมควบคุมโรคห่วงใยเกษตรกรที่ต้องเดินลุยน้ำในแปลงนาที่มีน้ำขังเฉอะแฉะ เสี่ยงป่วยเป็นโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรสิสได้ หากไม่มีการป้องกันที่ดีพอ จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 2 มิถุนายน 2559 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศ จำนวน 644 ราย ในพื้นที่ 49 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 14 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คืออายุ 45-54 ปี รองลงมาอายุ 35-44 ปี และอายุ 25-34 ปี ตามลำดับ อาชีพที่พบสูงสุดคือเกษตรกรร้อยละ 46.3 รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้างร้อยละ 20.5 ส่วนในปี 2558 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั้งสิ้น 2,151 ราย เสียชีวิต 51 ราย โดยคิดแยกเฉพาะช่วงฤดูฝน(มิ.ย.-ก.ย.) พบผู้ป่วยถึง 915 ราย เสียชีวิต 23 ราย ซึ่งเป็นช่วงที่มีอัตราป่วยสูงสุดของปี
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อว่า โรคฉี่หนูเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบได้ทั่วโลก ขณะนี้พบได้ทุกภาคของประเทศไทย ถือเป็นโรคประจำถิ่น นอกจากหนูที่เป็นตัวการหลักในการแพร่เชื้อโรคนี้แล้ว เชื้อโรคนี้อาจพบปนอยู่ในปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว โค แพะ แกะ ได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่าหนู โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสเชื้อเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งเชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามแอ่งน้ำหรือพื้นดินที่เป็นดินโคลนชื้นแฉะ โดยกลุ่มเสี่ยงโรคฉี่หนู คือ ชาวนาหรือผู้ที่มีอาชีพเกษตรกร ที่มักสัมผัสกับน้ำในแหล่งน้ำ เช่น ห้วยหนอง คลอง บึงต่างๆ นอกจากนี้ ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่มีน้ำท่วมขัง หรืออยู่ในที่แออัด มีหนูชุกชุม ก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน แม้จะไม่ได้เดินลุยน้ำท่วมขังก็ตามเพราะอาจติดเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อและกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่
สำหรับอาการของโรคฉี่หนู จะเริ่มจากมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาจะปวดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร เป็นต้น หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์ อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ และที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เพราะหากรักษาล่าช้า อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ไตวาย ตับวาย เลือดออกในปอด ทำให้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคขอแนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู ดังนี้ 1.ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีแผลที่เท้าและไม่รู้สึกเจ็บ มีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง 2. หากมีบาดแผลที่เท้าหรือที่บริเวณขา ขอให้ใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่กันน้ำได้ ห่อหุ้มขาและเท้าเพื่อป้องกันน้ำเปียกแผล การใช้พลาสเตอร์ปิดแผลไม่สามารถกันน้ำได้ 100 % และหากพลาสเตอร์ปิดแผลเปียกน้ำต้องรีบล้างแผลให้สะอาดและเปลี่ยนพลาสเตอร์ชิ้นใหม่ปิดแทนทันที
3.ผู้ที่ต้องทำงานเสี่ยงต่อโรค เช่น เกษตรกร คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ ขอให้สวมถุงมือยาง ใส่รองเท้าบู๊ทยาง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ 4.หมั่นล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงาน 5. ดื่มน้ำสะอาดและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกร้อนใหม่ๆ 6. กำจัดขยะในบ้านเรือน สถานที่ทำงานให้สะอาด โดยเฉพาะเศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าวเด่น